Abstract:
การบริหารจัดการบริหารจัดการภัยพิบัติอุทกภัย พ.ศ.2553-2554 ได้สะท้อนข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพของนโยบายในการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐกับสังคมในสถานการณ์ จึงนำมาสู่คำถามของการศึกษาที่ว่า “การบริหารจัดการภัยพิบัติอุทกภัยของรัฐไทยควรมีลักษณะสถาบันและองค์ประกอบเชิงสถาบันอย่างไร เพื่อนำไปสู่การเป็นสถาบันแห่งความร่วมมือในการบริหารจัดการ” โดยคำถามของการศึกษามีนัยสำคัญต่อการสร้างประสิทธิผลทางการบริหารจัดการปัญหา การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ขีดความสามารถของตัวแสดงในการตอบสนองสถานการณ์ และความยั่งยืนของสถาบันการบริหารจัดการปัญหาภัยพิบัติอุทกภัยของรัฐไทย งานชิ้นนี้จึงออกแบบกรอบการศึกษาวิจัยจากแนวคิดระบบราชการ แนวคิดธรรมาภิบาล และแนวคิดเชิงสถาบันเพื่อวางเป็นฐานในการวิเคราะห์ความร่วมมือระหว่างรัฐกับสังคม โดยอาศัยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการศึกษาวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์ และการสังเกตการณ์ เป็นเครื่องมือในเก็บข้อมูลสำหรับการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และอภิปรายผลการศึกษาและตอบคำถามของการศึกษาวิจัย จากการศึกษาพบว่าสถาบันหรือกติกาเชิงนโยบายการบริหารจัดการภัยพิบัติของรัฐไทยยังคงลักษณะของความเป็นระบบราชการอย่างเข้มแข็งที่ถูกห่อหุ้มด้วยกรอบธรรมาภิบาลอยู่ เรียกเป็น “สถาบันแบบระบบราชการใหม่” ส่งผลให้เกิดรูปแบบสถาบันในเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการในระดับพื้นที่กรณีศึกษาแตกต่างกัน เทศบาลนครหาดใหญ่ยอมรับแนวปฏิบัติการไปใช้ในพื้นที่และเกิดสถาบันที่มีความโดดเด่นของการประสานงานกันระหว่างรัฐส่วนกลาง-จังหวัด-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยการตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของสังคมพื้นที่ ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาสมอคอนยอมรับแนวปฏิบัติการจากโครงสร้างพื้นที่ด้วยความต้องการทรัพยากร และทำหน้าที่ในฐานะสถาบันปลายทางของจังหวัดซึ่งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงอาศัยความเป็นระบบราชการนำการดำเนินความสัมพันธ์ สำหรับเทศบาลนครปากเกร็ดมีการปฏิเสธแนวทางการปฏิบัติของโครงสร้างแนวดิ่งเนื่องจากขาดความสัมพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เทศบาลหันมาสร้างความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่จัดการปัญหาร่วมกัน ในส่วนของกรณีการบริหารจัดการภัยพิบัติสามประเทศ ได้แก่ การบริหารจัดการภัยพิบัติสึนามิของญี่ปุ่น การบริหารจัดการภัยพิบัติจากพายุเฮอร์ริเคนคาทรีน่าของสหรัฐอเมริกา และการบริหารจัดการพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนของฟิลิปปินส์ ได้สะท้อนประสิทธิภาพทางการบริหารจัดการเชิงสถาบันจากขีดความสามารถของโครงสร้างอำนาจที่สามารถสร้างความร่วมมือให้กับตัวแสดงจากความยืดหยุ่นของโครงสร้างการบริหารจัดการและการผลักดันศักยภาพของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของรัฐ การพัฒนาประสิทธิภาพของสถาบันในการบริหารจัดการภัยพิบัติอุทกภัยให้กับรัฐไทยของการศึกษานี้จึงเสนอการพัฒนาให้โครงสร้างเผชิญเหตุส่วนล่างโดยรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมเน้นความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนพันธมิตร ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของสถาบันทางการบริหารจัดการต่อไป