Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษานวนิยายและเรื่องสั้นของแดนอรัญ แสงทองในเชิงคติชนวิทยา ทั้งในด้านเรื่องเล่าที่นำมาใช้สร้างสรรค์งานเขียน และวิธีการถ่ายทอดเรื่องเล่าดังกล่าว ซึ่งจะแสดงให้เห็นได้ว่าแดนอรัญ แสงทองเป็นนักเขียนที่เทียบเคียงได้กับนักเล่านิทานในวัฒนธรรมมุขปาฐะ ผลการศึกษาพบว่า แดนอรัญ แสงทองมีคลังเรื่องเล่า (repertoire) ขนาดใหญ่และสามารถนำเรื่องเล่าที่สะสมไว้มาเล่าในสำนวนของตนได้อย่างน่าสนใจ เรื่องเล่าที่แดนอรัญสะสมไว้มักเป็นเรื่องเล่าที่รับรู้ในสังคมไทยและมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ พุทธศาสนา และบุคคลในประวัติศาสตร์ ตามลำดับ การที่แดนอรัญได้เลือกทั้งอนุภาค (motif) และแบบเรื่อง (tale type) จากคลังเรื่องเล่าของตนมาสร้างสรรค์เป็นงานเขียน ทำให้เทียบเคียงได้กับการที่นักเล่านิทานเลือกเรื่องเล่าจากคลังนิทานที่สะสมไว้มาเล่าเป็นนิทานในสำนวนของตน งานเขียนของแดนอรัญมักประกอบด้วยเรื่องเล่าหลักและเรื่องเล่าย่อยในทำนองนิทานแทรกนิทาน (tales in tales) มีสูตร (formula) และการซ้ำ (repetition) ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของวรรณกรรมมุขปาฐะดังที่ Albert B. Lord ศึกษา มีวิธีการถ่ายทอดเรื่องเล่าที่สอดคล้องกับกฎดึกดำบรรพ์ของนิทาน (Epic of Folk Narrative) ของ Axel Olrik อีกทั้งสามารถเทียบเคียงได้กับวิธีเล่านิทานของนักเล่านิทานในหลายประการ ได้แก่ การผสมผสานเทคนิคการเล่าเรื่องทั้งวิธีการแบบลายลักษณ์และมุขปาฐะไว้ในย่อหน้าขนาดยาวเพื่อเลียนลีลาการเล่าเรื่องของนักเล่านิทาน การซ้ำจำนวน 3 ครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของนิทานตามกฎดึกดำบรรพ์ดังกล่าว การร้อยเรียงเรื่องเล่าย่อยทั้งที่มีโครงเรื่องคล้ายกันและตรงข้ามกัน การเปิดเรื่องเพื่อสร้างความสมจริงให้แก่การเล่าเรื่องของตัวละคร รวมถึงการแทรกชุดข้อมูลที่สัมพันธ์กันเพื่อสร้างสีสันให้แก่งานเขียน การใช้ลีลาภาษาเฉพาะตัวเพื่อสนทนากับผู้อ่านซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของนักเล่านิทานที่จะต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง ในงานเขียนบางเรื่องยังปรากฏการเล่าเรื่องด้วยสำเนียงท้องถิ่นเพื่อเลียนลีลาการเล่าเรื่องแบบมุขปาฐะอีกด้วย งานเขียนของแดนอรัญจึงแสดงให้เห็นการผสมผสานความเป็นตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืนผ่านเรื่องเล่าและวิธีการเล่าเรื่องดังกล่าว งานวิจัยนี้ จึงเป็นการศึกษาวรรณกรรมร่วมสมัยด้วยมุมมองทางคติชนวิทยาโดยเน้นให้เห็นมิติของวรรณกรรมมุขปาฐะที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์วรรณกรรมลายลักษณ์ ทำให้เห็นคุณค่าของเรื่องเล่าที่เป็นที่รับรู้ในสังคมไทยที่ดำรงอยู่และมีบทบาทในบริบทใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาคติชนกับวรรณกรรมไทย