Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นธรรมทางสังคมในบันเทิงคดีแนวอาชญากรรมอเมริกันร่วมสมัย ได้แก่เรื่อง Mystic River (2001) ของ เดนนิส เลอเฮน (Dennis Lehane) Dark Places (2009) ของ จิลเลียน ฟลินน์ (Gillian Flynn) Gone Girl (2012) ของ จิลเลียน ฟลินน์ (Gillian Flynn) Law Abiding Citizen (2009) ของ ฟีลิกซ์ แกรี เกรย์ (Felix Gary Gray) The Bling Ring (2011) ของ ไมเคิล เล็มเบ็ค (Michael Lembeck) และ Dexter ภาค 1 และ 2 (2006-2007) ของเจมส์ แมนอส จูเนียร์และคณะ (James Manos, Jr. et al.) โดยเลือกศึกษาความเป็นธรรมในแง่ของเพศสถานะ เศรษฐกิจ และกฎหมายในสังคมอเมริกันปัจจุบัน จากการศึกษาพบว่าตัวบทคัดสรรนำเสนอความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากอำนาจในสังคมในประเด็นทั้ง 3 ประเด็น อาชญนิยายเรื่อง Gone Girl และ Mystic River ได้เผยให้เห็นความไม่เป็นธรรมทางเพศสถานะที่เกิดจากการกดทับเพศหญิงและเพศที่สามจากอำนาจเพศชายในสังคมปิตาธิปไตย และนำเสนอความพยายามตอบโต้ของผู้หญิงและกลุ่มคนรักเพศเดียวกันต่ออำนาจดังกล่าว ภาพยนตร์เรื่อง The Bling Ring นำเสนอการกระตุ้นการบริโภคจนขาดสติของระบบทุนนิยม และการใช้ประโยชน์จากกลไกของระบบเพื่อสนองตอบความต้องการของเหยื่อบริโภคนิยม ส่วนอาชญนิยายเรื่อง Dark Places นำเสนอความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยแสดงให้เห็นถึงความรู้ไม่เท่าทันระบบทุนนิยมของเกษตรกรในยุค 1980 การกดทับของนายทุนต่อชาวนา และการพยายามโต้กลับของชาวนาต่อความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ภาพยนตร์เรื่อง Law Abiding Citizen และละครโทรทัศน์เรื่อง Dexter นำเสนอความไร้ประสิทธิภาพของกฎหมายและระบบยุติธรรม ความไม่เป็นธรรมของกฎหมายและเจ้าหน้าที่ต่อพลเมือง และการที่พลเมืองจัดการกับความไม่เป็นธรรมในรูปศาลเตี้ย แต่กระนั้นการพยายามโต้กลับของตัวละครทุกตัวต่อการกดทับในสังคมกลับไม่เป็นผลในการเรียกคืนความเป็นธรรมแบบสมบูรณ์ เพราะสังคมต้องดำเนินต่อไปโดยมีระบบเหล่านี้เป็นกลไกผลักดัน และผลิตซ้ำความไม่เป็นธรรมเช่นเดิม