Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) วิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่เป็นเหตุในการทำรัฐประหาร (2) การอ้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร (3) บทบาทของทหารในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง วิธีการศึกษาเป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจากการวิเคราะห์ เอกสาร รายงาน งานวิจัยต่างๆ หนังสือ หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนรวมไปถึงเหตุการณ์รัฐประหาร ปี พ.ศ. 2557 และใช้วิธีการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องทางการเมืองที่สามารถให้ข้อมูลสำคัญได้เพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่ได้นำมารวบรวมวิเคราะห์ แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลพยายามเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ทำให้หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยจึงเป็นเหตุให้มีการชุมนุมประท้วงกดดันรัฐบาลจนนำไปสู่ความวุ่นวาย รุนแรงทางสังคมจนในที่สุดทหารก็ออกมาทำรัฐประหาร โดยทหารได้ใช้เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมาอ้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหารประกอบกับทางรัฐบาลขาดความชอบธรรมทางการเมืองจึงส่งผลให้การทำรัฐประหารเกิดความชอบธรรมมากขึ้น นอกจากนี้บทบาทของทหารในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ปรับเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยที่ทหารอาศัยเหตุการณ์และบริบทที่เกิดขึ้นในสังคมปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองจนสามารถก้าวเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองด้วยการทำรัฐประหารได้