Abstract:
ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในมาเลเซียประสบความสำเร็จในการระดมมวลชนขนาดใหญ่และมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นทศวรรษ 2550 วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาบทบาทและวิเคราะห์เงื่อนไขปัจจัยที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยเน้นช่วงปี พ.ศ. 2550 จนถึงปี พ.ศ. 2555 ผ่านกรณีศึกษา 3 ขบวนการเคลื่อนไหว ได้แก่ แนวร่วมเพื่อการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม กองกำลังปฏิบัติการเรียกร้องสิทธิชาวอินเดีย และองค์กรเสียงประชาชนมาเลเซีย งานวิจัยฉบับนี้ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพและวิเคราะห์ผ่านกรอบทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ได้แก่ ทฤษฎีโครงสร้างโอกาสทางการเมือง ทฤษฎีการระดมทรัพยากร และทฤษฎีการสร้างกรอบโครงความคิด จากการศึกษาพบว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในมาเลเซียทั้ง 3 กรณีศึกษา มีบทบาทที่สำคัญใน การสร้างการตระหนักรู้ต่อประเด็นข้อเรียกร้องของพวกเขา และระดมการสนับสนุนจากประชาชนผ่านการชุมนุมประท้วงเพื่อบรรลุเป้าหมายของขบวนการ รวมทั้งสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหว โดยเงื่อนไขและปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จและการขยายตัวซึ่งทั้ง 3 กรณีศึกษา ได้แก่ ปัจจัยที่หนึ่ง คือ ปัจจัยจากโครงสร้างโอกาสทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการเมืองแบบอำนาจนิยม ระบบการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรม กฎหมายความมั่นคงภายใน การถูกผลักให้เป็นชายขอบของชาวมาเลเซียที่ไม่ใช่เชื้อชาติมลายู ความล้มเหลวของพรรคการเมืองขนาดเล็กและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งมาเลเซีย ปัจจัยที่สอง คือ ปัจจัยจากการระดมทรัพยากรและการสร้างยุทธวิธีในการเคลื่อนไหว เช่น บทบาทของแกนนำ การขยายเครือข่ายเป็นแนวร่วมระดับนานาชาติ และการระดมมวลชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และปัจจัยที่สาม คือปัจจัยจากการสร้างกรอบโครงความคิดของขบวนการเคลื่อนไหว ได้แก่ การสร้างกรอบโครงความคิดเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมของระบบการเลือกตั้งมาเลเซีย ความไม่เป็นธรรมทางเชื้อชาติ และการปกป้องและส่งเสริมประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนในมาเลเซีย