Abstract:
วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ศึกษาเปรียบเทียบกลยุทธ์การสื่อสารทางการเมือง ระหว่างรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ผ่านการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ภายใต้กรอบแนวคิดหลักคือการสื่อสารทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและอำนาจนิยม และศึกษาผ่านตัวอย่างเทปรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน และรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ในรอบ 2 ปี ประกอบกับการเก็บข้อมูลจากการวิจัยเอกสาร (document research) ผลการวิจัยพบว่า ผู้นำทางการเมืองที่มีการเข้าสู่อำนาจแตกต่างกัน กล่าวคือ ผู้นำแบบประชาธิปไตย ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และผู้นำแบบอำนาจนิยมที่มาด้วยวิธีพิเศษ เช่น การรัฐประหาร มีการใช้กลยุทธ์การสื่อสารที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่การใช้คำ ซึ่งสะท้อนธรรมชาติของอำนาจที่ผู้นำทางการเมืองนั้นมีอยู่ ขณะที่การสื่อสารของผู้นำในเชิงเนื้อหาสาระของสาร ทั้งตัวนโยบายและการตอบสนองต่อปัญหา ก็ทำให้ทราบกลยุทธ์การสื่อสาร ในมิติความพยายามรักษาอำนาจและมิติการมองไปในอนาคตเพื่อจะกลับคืนสู่อำนาจ โดยพบว่าผู้นำประชาธิปไตยจะใช้กลยุทธ์ทำให้ชอบธรรมและลดความชอบธรรม ส่วนผู้นำแบบอำนาจนิยมจะใช้กลยุทธ์ข่มขู่บังคับให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป โดยสรุปคือ อำนาจ คือเครื่องมือในการสื่อสารของผู้นำทางการเมือง