Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบททางสังคม การเมืองที่มีผลต่อการระดมการสนับสนุนจากสังคม และเพื่อศึกษานัยสำคัญของ การรณรงค์คัดค้านรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนแม่วงก์ ต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมโดยรวมในสังคมไทย การรวบรวมข้อมูลใช้เอกสารชั้นต้น ชั้นรอง การสัมภาษณ์แกนนำ ผลการวิจัยพบว่ายุทธวิธีของขบวนการสิ่งแวดล้อมมีเนื้อหาครอบคลุมยุทธศาสตร์สามด้าน คือ การบริหารจัดการความรู้ สื่อสารสังคม และเรียกร้อง การจัดขบวนเดินเท้า ระดมการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ และการรักษาระดับความตื่นตัวของสังคม โดยอาศัยยุทธวิธีการเคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกัน เน้นการแชร์ข้อมูลข่าวสารของการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ และนำเสนอข้อมูลในเชิงวิชาการผ่านเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันก็ใช้การเดินเท้าเป็นปฏิบัติการวาทกรรม ข้อสรุป คือ การประท้วงแบบไม่ชุมนุม ได้รับการตอบรับเกินความคาดหมายเนื่องจากเป็นยุทธวิธีที่เข้าถึงได้ง่ายของชนชั้นกลาง นอกจากนั้นยังหลีกเลี่ยงการใช้วิธีการเผชิญหน้า และปรับเป้าหมายการคัดค้านเขื่อนมาสู่ประเด็นปัญหาในการศึกษาผลกระทบ กลุ่มอนุรักษ์พลิกวิกฤตของการเมืองแบ่งฝ่ายให้เป็นโอกาส