Abstract:
งานวิจัยเรื่องวิธีการบรรเลงเครื่องสายผสมออร์แกน วงบางขุนพรหมใต้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ผลการวิจัยพบดังนี้ จากการศึกษาประวัติการประสมวง Organology ของออร์แกนและวิธีการบรรเลงพบว่า วงบางขุนพรหมใต้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ก่อตั้งโดยคุณครูชิต แฉ่งฉวี หลังจากคุณครูชิต แฉ่งฉวีถึงแก่กรรม คุณครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ (ศิลปินแห่งชาติ) รับตำแหน่งหัวหน้าวงบางขุนพรหมใต้ มีสมาชิกในวง 8 ท่าน มีผลงานการบรรเลงออกอากาศและบันทึกเสียงของคุณครูประสิทธิ์ ถาวร เดิมออร์แกนจะมีช่วงเสียงที่สูงกว่าเครื่องสาย 1 เสียง ทำการลดเสียงโดยนำลิ้นออร์แกนสองเสียงแรกออก จากนั้นร่นลิ้นต่อไปมาแทนที่จนครบ การบรรเลงออร์แกนในวงเครื่องสายไม่นิยมบรรเลงร่วมกับจะเข้และบทเพลงประเภทที่มีสำเนียงมอญ มีลักษณะการเล่นแบบคู่ 8 อย่างระนาดเอกและจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องนำหน้า วงบางขุนพรหมใต้มีบทเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของวง 3 เพลงคือ เพลงวายุบุตรยาตรา เถา เพลงลาวสมเด็จ เถา และเพลงพราหมณ์ดีดน้ำเต้า เถา สำนวนกลอนปรากฏรวมทั้ง 3 เพลง 12 สำนวน ได้แก่ สำนวนการยืนเสียง สำนวนการใช้เสียงชิดข้าม สำนวนกึ่งเก็บกึ่งทำเสียงยาว สำนวนจาว การซ้ำสำนวน สำนวนการลักจังหวะในทำนองเพลง สำนวนการลงจบก่อนหมดจังหวะ สำนวนการเคลื่อนที่ของทำนองที่สวนทางกัน สำนวนการใช้เสียงชิด สำนวนกลอนย้อนตะเข็บ สำนวนการแปรลูกเท่า และการทอนสำนวน