Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องวิธีการขับร้องหมอลำกลอนของหมอลำ ป.ฉลาดน้อย(ครูฉลาด ส่งเสริม)วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระเบียบวิธีการแสดงหมอลำกลอนของหมอลำ ป.ฉลาดน้อย และเพื่อศึกษากลวิธีการขับร้องหมอลำกลอนของหมอลำ ป.ฉลาดน้อย โดยใช้กลอนลำทางยาวตามน้องทั่วอีสาน ในการดำเนินการวิจัย ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผลการวิจัยพบดังนี้ ระเบียบวิธีการแสดงหมอลำกลอนของหมอลำ ป. ฉลาดน้อย (ครูฉลาด ส่งเสริม) แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ การแสดงเฉพาะกิจ การแสดงครึ่งคืน และการแสดงทั้งคืน โดยจะมีความแตกต่างกันคือ การแสดงเฉพาะกิจ ผู้ว่าจ้างจะมาติดต่อการแสดงเพื่อแสดงในงานต่าง ๆ เป็นการเฉพาะ ไม่แสดงเป็นเรื่องราว อาจเป็นการว่าจ้างเพื่อแสดงในตอนใดตอนหนึ่ง ส่วนการลำแบบครึ่งคืนและเต็มคืน หมอลำจะแสดงไปจนถึงเวลาประมาณเที่ยงคืน และทั้งคืนตามลำดับ ขั้นตอนการแสดงหมอลำจะประกอบไปด้วย การลำบทกลอนลำไหว้ครู การลำกลอนลำเกี่ยวกับเจ้าภาพหรือกลอนลำยอศรัทธาซึ่งเป็นกลอนลำที่แต่งขึ้นเฉพาะสำหรับงานนั้น ๆ การลำบทกลอนลำแนะนำตัว การลำบทเกี้ยวพาราสี การลำกลอนลำที่แสดงเรื่องราว และการลำลา กลวิธีการร้องหมอลำกลอน จากการศึกษากลอนลำทางยาวตามน้องทั่วอีสาน มีลักษณะเป็นลำทางยาวหรือลำล่อง พบกลวิธีการร้องคือ การปัดท้ายเสียง การร้องเลียนเสียงธรรมชาติ การใช้น้ำเสียงเพื่อสื่ออารมณ์ การเอื้อนโดยใช้ลูกคอและการร้องโดยใช้คำพิเศษ โดยการใช้น้ำเสียงเพื่อสื่ออารมณ์ เป็นกลวิธีที่พบมากที่สุด