Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา ความเชื่อ ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับแมวทั่วไปและแมวไทยทั้ง 5 ชนิด ที่ยังคงปรากฏให้พบเห็นได้ในปัจจุบันและนำมาสังเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์เป็นทำนองเพลง ตับวิฬาร์เริงสำราญ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการศึกษาข้อมูลเอกสารและสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านแมวไทยและผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดุริยางคศิลป์ไทย นำเสนอผลการวิจัยด้วยการสร้างสรรค์บทเพลงทางดุริยางคศิลป์ไทยใหม่แล้วบรรเลงด้วยวงดนตรีไทยประยุกต์ร่วมสมัยและวิธีการพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) แมวไทย มีประวัติความเป็นมายาวนานอยู่คู่กับคนไทย มีความเชื่อมโยงไปสู่ต่างประเทศ มีคติความเชื่อทั้งราชสำนักและชนพื้นถิ่นได้แก่เข้าร่วมในงานพระราชพิธีและพิธีขอฝนของชาวบ้านที่มีความเดือดร้อน ลักษณะนิสัยของแมว 5 ชนิดที่ผู้วิจัยทำการสืบค้นข้อมูลพบว่ามีอุปนิสัยดีและเฉลียวฉลาด การประพันธ์เพลง “ตับวิฬาร์เริงสำราญ” เป็นการประพันธ์เพลงตับ ประเภทตับเรื่อง กำหนดใช้วงดนตรีไทยประยุกต์ร่วมสมัยทำการบรรเลง ทำนองเพลงแบ่งออกเป็น 3 ช่วงได้แก่ ปฐมบท กล่าวถึงประวัติความเป็นมา ความเชื่อ และบริบทต่าง ๆ ของแมวไทย ทำนองแบ่งออกเป็นลูกนำ 4 ท่อน ส่วนที่สอง มัชฌิมบท กล่าวถึงอุปนิสัย สัญชาตญาณ พฤติกรรม ทำนองเพลงแบ่งออกเป็นทำนองอุปนิสัย 5 ท่อน และส่วนที่สาม ปัจฉิมบท กล่าวถึงลักษณะเด่นของแมวไทยทั้ง 5 ชนิด ทำนองเพลงแบ่งออกเป็น 5 เพลงตามชนิดของแมวไทย ทำนองเพลงมีทั้งการประพันธ์ทำนอง 8 ห้องโน้ตเพลงและแบบฉิ่งตัดได้แก่ 7 ห้องโน้ตเพลง ทำนองเพลงประพันธ์โดยยึดหลักการประพันธ์เพลงเกี่ยวกับสัตว์โดยคัดเลือก นก มาเป็นแนวในการประพันธ์อิงขนบและทำการประพันธ์ทำนองใหม่โดยไม่อิงขนบ เครื่องดนตรีสากลและเครื่องตกแต่งทำนองที่นำมาใช้ได้แก่ คลาริเน็ต หมากกะโหล่ง โปงเหล็ก เกราะ กังสดาล ระฆัง กระพรวน ขลุ่ยนกชนิดต่าง ๆ ขลุ่ยจีน ส่วนเครื่องกำกับจังหวะ หน้าทับได้แก่กลองแขก ตะโพนไทย เปิงมาง จังหวะหน้าทับที่นำมาตีกำกับทำนองมีทั้งจังหวะอิสระ และจังหวะหน้าทับเดิมได้แก่ หน้าทับพระทอง หน้าทับกระบี่ลีลา หน้าทับเบ้าหลุด หน้าทับลาว หน้าทับสองไม้สองชั้น หน้าทับตะเขิ่ง (กลองแขก) หน้าทับสดายงค์ ชั้นเดียว