Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาสถานการณ์และแบบแผนความต้องการมีบุตร รวมไปจนถึงค้นหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการมีบุตรของสตรีที่สมรสในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2555 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ ได้กำหนดกลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีที่สมรสที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ (15 – 49 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 15,661 ราย สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และ เทคนิคการวิเคราะห์ถดถอยโพรบิท ผลการศึกษาสถานการณ์ความต้องการมีบุตรในอนาคตของสตรีที่สมรสในประเทศไทย พบว่า ในภาพรวม มีสตรีที่สมรสเพียงร้อยละ 18.83 ที่ต้องการมีบุตรในอนาคต และ เมื่อทำการศึกษาแบบแผนความต้องการมีบุตรในแต่ละลำดับของสตรีที่สมรส ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ความต้องการมีบุตรของสตรีที่สมรสมีสัดส่วนลดต่ำลงเมื่อจำนวนบุตรที่มีมาแล้วของสตรีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีที่สมรสที่มีบุตรแล้วตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งพบว่า มีสัดส่วนมากถึง ร้อยละ 95.80 ที่ไม่ต้องการมีบุตรเพิ่ม นอกจากนี้ยังพบว่า มากกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 36.91) ของสตรีที่สมรสที่ไม่มีบุตร ไม่ต้องการมีบุตรคนแรกอีกด้วย เมื่อทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการมีบุตรของสตรีที่สมรส พบข้อค้นพบเกี่ยวกับลักษณะของสตรีที่สมรสที่น่าสนใจว่า สตรีที่สมรสที่มีอายุ 20 – 24 ปี 25 – 29 ปี และ 30 – 34 ปี สตรีที่สมรสและอยู่กินกับชายฉันท์สามีภรรยาตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป สตรีที่สมรสที่ยังไม่เคยมีบุตร สตรีที่สมรสที่มีบุตรแล้ว 1 คน (รวมบุตรที่อยู่ในครรภ์) และ สตรีที่สมรสที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าประถมศึกษา เป็นช่วงทองแห่งโอกาสที่สตรีที่สมรสจะมีความต้องการมีบุตรคนแรกและคนที่สอง ดังนั้น สตรีที่สมรสที่มีคุณลักษณะต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ จึงควรได้รับการสนับสนุนให้มีบุตรโดยผ่านนโยบายส่งเสริมการมีบุตรที่มีคุณภาพ และ ผ่านกลไกการแทรกแซงตลาดต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล