Abstract:
ศึกษาปัจจัยคัดสรรที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นชายที่ทำผิดกฎหมาย ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในเขตภาคใต้ของประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนทั้งสิ้น 606 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัยรุ่นชายที่ทำผิดกฎหมาย ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในเขตภาคใต้ของประเทศไทย อายุ 16-18 ปี จำนวน 300 คน และกลุ่มนักเรียนวัยรุ่นชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 และ 6 อายุ 16-18 ปี จากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จังหวัดภูเก็ต โรงเรียนสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จำนวน 306 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ มาตรวัดการอบรมเลี้ยงดูซึ่งพัฒนาตามรูปแบบการวิจัย เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูของ Baumrind และแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป นำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์การจำแนกกลุ่ม (Discriminant Analysis) ด้วยวิธีการวิเคราะห์แบบขั้นตอน (Stepwise) โดยใช้สถิติวิลค์ส แลมดา (Wilks's Lambda) เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกตัวแปรเข้าวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่า จากการวิเคราะห์ผลข้อมูล ด้วยเทคนิคการจำแนกกลุ่ม ปรากฏว่า มีตัวแปรจำนวน 6 ตัวแปร จาก 17 ตัวแปร ที่สามารถอธิบายความแปรปรวน ของการเป็นสมาชิกกลุ่มวัยรุ่นชายที่ทำผิดกฎหมาย และกลุ่มนักเรียนวัยรุ่นชาย ได้ถึงร้อยละ 69.5 ซึ่งตัวแปร 6 ตัวแปรดังกล่าว ถือเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นชายที่ทำผิดกฎหมาย ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในเขตภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ปัจจัยดังต่อไปนี้ คือ (1) ระดับการศึกษา (2) รายได้เฉลี่ยของครอบครัว (3) การคบเพื่อนที่ทำผิดกฎหมาย (4) การอบรมเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย (5) การอบรมเลี้ยงดูแบบรักตามใจ (6) พ่อและแม่อยู่ร่วมกัน (เรียงตามลำดับความสำคัญ จากค่าสัมประสิทธิ์ คาโนนิคัลมาตรฐาน Ci)