Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความร่วมมือระยะสั้นในการใส่เฝือกสบฟันชนิดเสถียรของผู้ป่วยเท็มโพโรแมนดิบิวลาร์ดิสออเดอร์ (ทีเอ็มดี) และเปรียบเทียบความร่วมมือระยะสั้นในการใส่เฝือกสบฟันชนิดเสถียร จำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาที่มีอาการ ระดับความปวด ผลการรักษา อาการไม่พึงประสงค์ที่เป็นปัญหาหลังใส่เฝือกสบฟัน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยทีเอ็มดีที่ได้รับการใส่เฝือกสบฟันที่ภาควิชาทันตกรรมบดเคี้ยว คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2559 จำนวน 90 คน โดยให้ผู้ป่วยบันทึกแบบสอบถามเป็นระยะเวลา 14 วัน หลังได้รับการใส่เฝือกสบฟัน การเปรียบเทียบอัตราความร่วมมือในการใส่เฝือกสบฟันใช้การทดสอบการแจกแจงแบบทีสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นอิสระต่อกัน (Independent sample t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ (Post-hoc test) ด้วยวิธี LSD ผลการศึกษาพบว่าอัตราการได้รับแบบสอบถามคืนคิดเป็นร้อยละ 96 แบบสอบถามที่มีความสมบูรณ์และสามารถนำมาวิเคราะห์ได้มีจำนวน 80 ชุด คิดเป็นร้อยละ 89 อัตราความร่วมมือในการใส่เฝือกสบฟันเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 88 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 51) ไม่ได้ใส่เฝือกสบฟันทุกวัน สาเหตุหลักที่ผู้ป่วยไม่ร่วมมือเนื่องจากลืมใส่ รองลงมาคือมีอาการไม่พึงประสงค์ (เจ็บฟัน) ผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการดีขึ้น มีอัตราความร่วมมือในการใส่เฝือกสบฟันสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการเหมือนเดิมและกลุ่มที่มีอาการแย่ลง (p < 0.05) ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บฟันเป็นปัญหารบกวนการใส่เฝือกสบฟันมีอัตราความร่วมมือน้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีปัญหาเจ็บฟัน (p < 0.05) และไม่พบความแตกต่างของอัตราความร่วมมือในการใส่เฝือกสบฟัน เมื่อจำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาที่มีอาการ ระดับความปวด