Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาวิธีคิดในการสร้างประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะที่เป็น “ประเพณีสร้างสรรค์” และวิเคราะห์พลวัตและบทบาทของประเพณีดังกล่าว โดยเก็บข้อมูลภาคสนามในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2559 ผลการศึกษาพบว่าประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 และสืบทอดมาจนปัจจุบัน เพื่อเป็นประเพณีประจำจังหวัดบุรีรัมย์ กิจกรรมการท่องเที่ยวประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ พิธีบวงสรวงเทพเจ้าประจำปราสาทพนมรุ้ง ขบวนแห่การจำลองขบวนเสด็จพระนางภูปตินทรลักษมีเทวีและเทพพาหนะทั้งสิบ และการแสดงประกอบแสงเสียงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของปราสาทพนมรุ้ง ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งมีวิธีคิดในการสร้างประเพณีโดยสร้างประเพณีใหม่ซ้อนลงไปในประเพณีเลิงพนมของชาวบ้าน กิจกรรมการท่องเที่ยวทั้ง 3 กิจกรรมสะท้อนให้เห็นวิธีคิดในการสร้างโดยนำหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี รวมทั้งศิลปะบนตัวปราสาทมาสร้างเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ การนำลวดลายภาพสลักนูนต่ำบัวแปดกลีบมาสร้างเป็นพิธีสักการบูชาบริเวณบันไดนาคราชตรงทางขึ้นปราสาท การจำลองเครื่องประดับตกแต่งขบวนแห่และการแสดงประกอบแสงเสียงจากภาพจำหลักบนตัวปราสาท ปัจจุบันยังมีการประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปกับปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ส่องลอดช่องประตูปราสาทพนมรุ้งทั้ง 15 ประตู และมีการใช้ประเพณีนี้ในแง่การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างชาวเขมรถิ่นไทยในจังหวัดบุรีรัมย์กับชาวอุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชาอีกด้วย พลวัตของประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 พลวัตจากประเพณีราษฎร์สู่ประเพณีรัฐในปี 2534 และช่วงที่ 2 พลวัตของประเพณีในช่วงที่จัดการโดยจังหวัดบุรีรัมย์ พลวัตของทั้ง 2 ช่วงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงผู้จัดเป็นสำคัญ ทั้งนี้ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งมีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และมีบทบาทในด้านสังคม กล่าวคือ ได้สร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับปราสาทพนมรุ้งโดยอ้างว่ามาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี และได้นำเสนอ อัตลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งอัตลักษณ์ของกลุ่มเขมรถิ่นไทย นอกจากนี้ยังมีบทบาทในด้านการสร้างความศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย งานวิจัยนี้จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เข้าใจการสร้างสรรค์ประเพณีใหม่ ๆ ในสังคมไทยร่วมสมัย และเป็นแนวทางในการศึกษาปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมในเชิงคติชนวิทยา และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง