Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษารวบรวม วิเคราะห์และเปรียบเทียบการสืบทอดและบทบาทของคติชนที่เกี่ยวกับ “พระพุทธรูปไม้ติ้ว” ในอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และในบ้านหัวถนน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ผู้วิจัยศึกษารวบรวมข้อมูลจากข้อมูลเอกสาร ข้อมูลภาคสนาม และข้อมูลในสื่อสมัยใหม่ในระหว่างปี พ.ศ.2558 – 2559 ผลการศึกษาพบว่า คติชนเกี่ยวกับ “พระพุทธรูปไม้ติ้ว” ในทั้งสองสนามวิจัยมีความหลากหลาย มีทั้งที่เป็นความเชื่อ ตำนาน พิธีกรรม และวัตถุมงคล พบตำนาน “พระพุทธรูปไม้ติ้ว” ทั้งสำนวนมุขปาฐะและสำนวนลายลักษณ์ที่มีแบบเรื่องเดียวกันอาจเรียกรวมว่าตำนาน “พระพุทธรูปไม้ติ้ว” ทั้งสองสนามวิจัยมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ “พระพุทธรูปไม้ติ้ว” ในลักษณะผสมกับหลักบ้านหลักเมืองคล้ายกัน มีประเพณีแห่และสรงน้ำ “พระพุทธรูปไม้ติ้ว” เหมือนกัน แต่มีองค์ประกอบของพิธีบางประการต่างกันตามบริบทสังคมแวดล้อม นอกจากนี้ที่เมืองนครพนมยังมีประเพณีบายศรีสู่ขวัญพระติ้วพระเทียมสอดคล้องกับเหตุการณ์ในตำนานด้วย ที่บ้านหัวถนนไม่มีเหตุการณ์ตอนนี้ในตำนานจึงไม่มีประเพณีนี้ ส่วนประเพณีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ “พระพุทธรูปไม้ติ้ว” ที่เมืองนครพนมมีพิธีบูชาเจ้าพ่อหมื่นที่ขยายสู่กลุ่มชนอื่นที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง บ้านหัวถนนมีพิธีบูชาเจ้าพ่อปมหัวเป็นพิธีกรรมเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ลาว และพบการสร้างวัตถุมงคล “พระพุทธรูปไม้ติ้ว” เพื่อให้ประชาชนได้เช่าบูชาทั้งสองสนามวิจัย วัตถุมงคลที่บ้านหัวถนนมีแบบพิมพ์ที่หลากหลายมากกว่าที่เมืองนครพนม เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากผู้นิยมพระเครื่องมากกว่า กลุ่มชนในทั้งสองสนามวิจัยยังคงสืบทอดและปรับใช้คติชนดังกล่าวในลักษณะต่างกันตามปัจจัยอันได้แก่ ผู้จัดพิธีกรรมและผู้ประกอบพิธี บริบทชุมชนและคติชนแวดล้อม นโยบายของภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลปกครองชุมชน และสื่อมวลชน เนื่องจากคติชนเกี่ยวกับ “พระพุทธรูปไม้ติ้ว” ยังคงมีบทบาททั้งในการสร้างความมั่นคงด้านจิตใจ มีบทบาทในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน มีบทบาทในการอธิบายประวัติความเป็นมาของชุมชน มีบทบาทในการแสดงอัตลักษณ์และความทรงจำร่วมของกลุ่มชนดังจะเห็นได้ชัดเจนที่บ้านหัวถนน และมีบทบาทในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่เมืองนครพนม การศึกษาในครั้งนี้จึงทำให้เข้าใจการสืบทอดและบทบาทของคติชนที่เกี่ยวกับ “พระพุทธรูปไม้ติ้ว” ในสังคมไทยร่วมสมัย และเป็นแนวทางในการศึกษาคติชนในบริบทสังคมพหุวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว