Abstract:
จากงานสำรวจเกี่ยวกับการออมหลายชิ้นก่อนหน้าพบว่า แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะมีการเก็บออม แต่ก็พบว่าการออมนั้นยังไม่เพียงพอต่อการเกษียณอายุ และคนวัยทำงานส่วนมากยังคงมีความกังวลใจเรื่องความเพียงพอของเงินที่ใช้ในยามเกษียณ ซึ่งการอธิบายปรากฏการดังกล่าวภายใต้ทฤษฎีวงจรชีวิต เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การใช้กรอบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในเรื่องของการควบคุมตนเองมาอธิบายพฤติกรรมการออมในระดับบุคคล น่าจะอธิบายปรากฏการดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของการควบคุมตนเอง รวมถึงผลกระทบของการใช้การผูกมัดตนเองในการออมที่มีต่อการออมของภาคครัวเรือน โดยจะศึกษาผ่านปริมาณการออม และโอกาสที่จะมีเงินเพียงพอหลังหลักจากเลิกทำงานประจำ ผ่านการสำรวจจากบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลในปี 2560 โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติเข้ามาเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบ ผลการศึกษาผ่านปริมาณเงินออม และโอกาสที่จะมีเงินเพียงพอหลังจากเลิกทำงานประจำพบว่า การควบคุมตนเอง และการผูกมัดตนเองในการออมนั้นส่งผลทางบวกต่อปริมาณเงินออมต่อเดือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และในกลุ่มที่มีการออมเพื่อใช้หลังจากเลิกทำงานประจำนั้นพบว่า พฤติกรรมความลำเอียงกับปัจจุบันสามารถอธิบายความไม่สมเหตุสมผลของการออมได้เช่นกัน ในส่วนของโอกาสที่จะมีเงินเพียงพอหลังจากเลิกทำงานประจำนั้นพบว่า การควบคุมตนเอง ส่งผลทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน และพบว่าการผูกมัดตนเองในการออมนั้นสามารถช่วยให้ปริมาณเงินออมต่อเดือน และโอกาสที่จะมีเงินเพียงพอหลังจากเลิกทำงานประจำเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผูกมัดการออมในรูปแบบของการตั้งกฎต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยออม และลดสภาพคล่องของเงินออมนั้นเพื่อป้องกันการถอนเงินมาใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถส่งเสริมให้บุคลากรมีการออมที่ดีขึ้นได้โดยการปรับนโยบายให้บุคลากรทุกคนมีการออมผ่านกองทุนใดกองทุนหนึ่ง รวมถึงการเป็นสมาชิกสหกรณ์จุฬาฯตั้งแต่เมื่อเริ่มทำงานเพื่อเป็นหลักประกันในการออม รวมถึงการพัฒนาความรู้ทางการเงินให้แก่บุคลากร และส่งเสริมวินัยในการออมให้แก่บุคลากร