Abstract:
ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งที่มักถูกใช้เป็นนโยบายในการพัฒนาชีวิตแรงงานของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานสามารถจัดหาสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างไรก็ตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำมีผลบังคับใช้เพียงแค่แรงงานไร้ทักษะในระบบ ซึ่งมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 29 ของแรงงานในประเทศเท่านั้น แต่ผลกระทบของนโนบายดังกล่าวยังสามารถส่งผลต่อแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่และเป็นกลุ่มคนจนในประเทศได้ การศึกษาครั้งนี้จึงมีความสนใจที่จะศึกษาผลกระทบของการดำเนินนโยบายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ส่งผลต่อภาวะความยากจนของประเทศและความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของประเทศ รวมทั้งผลกระทบของการดำเนินโยบายค่าจ้างขั้นต่ำที่ส่งผลต่อแรงงานทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ทั้งนี้ได้ศึกษาผ่านแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium: CGE Model) และตารางบัญชีเมตริกซ์สังคม พ.ศ. 2553 ผลการศึกษาชี้ว่าการปรับเพิ่มอัตราคาจ้างขั้นต่ำส่งผลให้ค่าจ้างของแรงงานไร้ทักษะในระบบเพิ่มขึ้น แต่กลับมีการจ้างงานลดลงในกลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้จะส่งผลต่อตลาดแรงงานนอกระบบเช่นกัน โดยทำให้ค่าจ้างของแรงงานไร้ทักษะนอกระบบลดลง นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยต้องประสบกับค่าใช้จ่ายในการบริโภคเพิ่มขึ้น ประกอบกับครัวเรือนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยสุด นโยบายดังกล่าวจึงไม่ได้ช่วยให้ความยากจนและความเท่าเทียมทางรายได้ดีขึ้นได้ ดังนั้นภาครัฐจึงควรจัดหามาตรการหรือสร้างสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ ที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของกลุ่มคนจนดังกล่าว เพื่อให้ประเทศก้าวพ้นภาวะความยากจนได้ดีขึ้น