Abstract:
ด้วยเหตุที่นโยบายของรัฐด้านสวัสดิการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจน และความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่า ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของนโยบายนี้ตกไปอยู่คนที่ไม่จนเกือบร้อยละ 90 จึงทำให้รัฐบาลไทยเริ่มมีความคิดที่จะนำมาตรการเครดิตภาษีเงินได้จากการทำงาน (Earned Income Tax Credit: EITC) มาประยุกต์ใช้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจนด้วยการจัดสรรเงินโอนผ่านระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้รับสิทธิจำเป็นต้องมีรายได้จากการทำงานเท่านั้น การศึกษาครั้งนี้จึงมีความสนใจที่จะศึกษาถึงผลกระทบของมาตรการเครดิตภาษีเงินได้จากการทำงานที่ส่งผลต่อความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางรายได้ รวมไปถึงศึกษาผลกระทบของมาตรการที่มีต่อตัวแปรเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญ เช่น ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น โดยศึกษาผ่านแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium Model: CGE Model) ควบคู่ไปกับฐานข้อมูลตารางบัญชีเมตริกซ์สังคม พ.ศ. 2553 รวมทั้งได้มีการเพิ่มเติมสมการอุปทานของแรงงาน โครงสร้างของมาตรการ EITC และสวัสดิการสังคมเข้าไปในแบบจำลอง เพื่อให้เหมาะสมกับประเด็นที่ศึกษา ผลการศึกษาชี้ว่า มาตรการเครดิตภาษีเงินได้จากการทำงานสามารถแก้ไขปัญหาความยากจน และความไม่เท่าเทียมทางรายได้ในมุมมองผู้มีรายได้จากการทำงานดีขึ้น เนื่องจากเงินโอนจากมาตรการเข้าไปเพิ่มรายได้และจูงใจให้ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำให้ขยันทำงานเพิ่มขึ้น การบริโภคของครัวเรือนที่ยากจนจึงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้มาตรการยังส่งผลต่ออุปทานแรงงานทั้งทางบวก (Phase-in) และทางลบ (Plateau และ Phase-out) โดยรวมอุปทานแรงงานลดลง ทำให้ผลผลิตของภาคการผลิตลดลง ซึ่งส่งผลเชิงลบต่อไปยังรายได้ของประเทศ (GDP) แต่อย่างไรก็ตามสวัสดิการสังคมที่ประเทศได้รับจากมาตรการ (ผลประโยชน์) มีค่ามากกว่างบประมาณที่ใช้ไป (ต้นทุน) จึงทำให้คุ้มค่าหากรัฐบาลจะใช้มาตรการ EITC โดยมีประเด็นที่ควรคำนึงคือ ผลกระทบเชิงลบของมาตรการที่มีต่ออุปทานแรงงาน และการตรวจสอบรายได้และฐานะทางครอบครัวของผู้รับสิทธิให้ได้อย่างถูกต้อง