Abstract:
วงสะล้อ ซอ ปิน เป็นศิลปะการแสดงของจังหวัดน่าน มีเอกลักษณ์เฉพาะ 4 ประการคือ การประสมวง บทเพลง ลักษณะเฉพาะของสะล้อ และการฟ้อนประกอบการขับซอ การประสมวงใช้เฉพาะสะล้อและปินบรรเลงทำนองเข้าซอ ไม่ใช้กลองและฉิ่งตีประกอบจังหวะ เพลงที่เป็นทำนองเฉพาะของจังหวัดน่านคือเพลงดาดน่าน เพลงปั่นฝ้าย เพลงลับแลง เพลงพม่าต๊ะโต๋งเต๋ง และเพลงพระลอเดินดง สะล้อติดขั้นเสียงเรียกว่า สะล้อก๊อบ ในอดีตช่างซอจังหวัดน่านซอเข้าปี่จุม ต่อมาในสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดาซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายของเมืองน่าน เปลี่ยนวิธีการบรรเลงเป็นซอเข้าสะล้อ และปิน จากการศึกษาประวัติ ครูอรุณศิลป์ ดวงมูล พบว่าท่านเป็นศิษย์เอกของพ่อครูไชยลังกา เครือเสน ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพ.ศ. 2530 สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีพื้นบ้าน และสืบทอดเจตนารมณ์การขับซอโดยก่อตั้งและเผยแพร่วงสะล้อ ซอ ปินของจังหวัดน่านเมื่ออายุ 42 ปี มีฉายาศิลปินในวงการว่า พ่อหนานรุณ ปัจจุบันครูอรุณศิลป์อายุ 67 ปี ได้รับการยกย่องว่าเป็นช่างซอที่มีเสียงไพเราะ มีไหวพริบและความสามารถในการประพันธ์บทซอ มีความรู้ในการประกอบพิธีกรรมคายอ้อ เป็นหัวหน้าคณะวงสะล้อ ซอ ปินที่เคารพนับถือของจังหวัดน่าน และได้รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญารุ่นที่ 4 ประจำปีพ.ศ. 2548 ด้านศิลปกรรม การศึกษาบทเพลงทั้ง 5 เพลงได้แก่เพลงดาดน่าน เพลงลับแลง เพลงปั่นฝ้าย เพลงพม่าต๊ะโต๋งเต๋ง และเพลงพระลอเดินดงซึ่งเป็นเพลงซอที่มีลักษณะเฉพาะของจังหวัดน่านพบว่า ใช้กลุ่มปัญจมูล ดรมXซลX กลุ่มเสียงปัญจมูล มฟซXทดX และกลุ่มเสียงปัญจมูล ฟซลXดรX ลักษณะเฉพาะของการดีดปินพบว่ามีทั้งหมด 9 วิธี ได้แก่ การดีดเติมเสียง การดีดซ้ำต้นพยางค์ การซ้ำพยางค์ข้ามห้อง การดีดสะบัด การกระทบสายทุ้ม การดำเนินทำนองข้ามช่วงเสียงเกินคู่ 8 การดีดสลับฟันปลา การขึ้นต้นไม่แปลทำนอง และการเปลี่ยนลูกเป็นคู่เสียง ส่วนลักษณะเฉพาะการสีสะล้อนั้นผู้วิจัยพบว่ามี 4 วิธี ได้แก่ การรูดนิ้วของสะล้อ การขยี้ของสะล้อ การประคบเสียงของสะล้อ และการไต่เสียงขึ้นลง และในด้านการขับซอพบว่ามี 5 วิธี การผันเสียง การเน้นคำ การเอื้อน การบรรจุคำ และการหายใจ การขับซอของวงสะล้อ ซอ ปิน ของครูอรุณศิลป์ ดวงมูล จังหวัดน่าน รักษาแบบฉบับดั้งเดิมที่ได้รับสืบทอดมาเพื่อคงไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่ายิ่งสืบไป