Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ตามแนวคิดสัมมาทิฏฐิ” เป็นการผสานองค์ความรู้ทางด้านปรัชญาทางพุทธศาสนาในเรื่องสัมมาทิฏฐิ ศิลปกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหารูปแบบผลงานการแสดง และแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์ผลงาน “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ตามแนวคิดสัมมาทิฏฐิ” งานวิจัยฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงสร้างสรรค์และการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย การสำรวจข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง สื่อสารสนเทศ การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ และการทดลองปฏิบัติการทางนาฏยศิลป์ จากนั้นจึงทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ แล้วสรุปเป็นผลการวิจัย จากผลการวิจัย พบรูปแบบที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานการแสดง ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบของการแสดงทางนาฏยศิลป์ 8 ประการ ได้แก่ 1) บทการแสดง ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดเรื่องสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ 2) ดนตรีประกอบการแสดง ใช้การแสดงดนตรีสดบรรเลงเพลงคลาสสิก โดยใช้เครื่องดนตรีเชลโล่และเปียโนไฟฟ้า เพื่อสะท้อนความรู้สึกของการแสดงในแต่ละองก์ 3) ลีลาทางนาฏยศิลป์ ใช้รูปแบบการเต้นบัลเลต์และนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) นักแสดง ใช้นักแสดงที่มีความสามารถทางบัลเลต์และนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 5) เครื่องแต่งกาย ใช้รูปแบบของการแต่งกายในชีวิตประจำวัน เน้นความเรียบง่าย 6) อุปกรณ์ประกอบการแสดง ใช้ตัวอักษรประดิษฐ์คำว่า “สัมมาทิฏฐิ” เป็นฉากประกอบการแสดงตั้งแต่ต้นจนจบ 7) พื้นที่แสดง ใช้การปรับสถานที่โดยการเคลื่อนย้ายตัวอักษรประดิษฐ์คำว่า “สัมมาทิฏฐิ” ให้เข้ากับการแสดงในแต่ละองก์ 8) แสง เลือกใช้แสงในสีโทนร้อนและโทนเย็น เพื่อสื่ออารมณ์ความรู้สึกและบรรยากาศในการแสดง ส่วนแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์ผลงานการแสดง ได้แก่ 1) แนวคิดปรัชญาทางพุทธศาสนาเรื่องสัมมาทิฏฐิ 2) สัญลักษณ์และการสื่อสารในการแสดงนาฏยศิลป์ 3) ความเรียบง่ายตามแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) ความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 5) ทฤษฎีนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และทัศนศิลป์ 6) การสะท้อนภาพทางสังคมโดยใช้นาฏยศิลป์ และ 7) การแสดงที่สร้างสรรค์เพื่อเยาวชน จากผลการวิจัยทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้วิจัยพบว่าได้ตรงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ