Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างสรรค์รูปแบบและศึกษาแนวคิดที่ได้หลังจากการปฏิบัติการสร้างสรรค์การแสดงผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยร่วมกับการฉายภาพสำหรับการแสดงที่มีแนวคิดเรื่องปลากัดและพฤติกรรมการมีอาณาเขตครอบครอง โดยใช้กระบวนการการสำรวจข้อมูลเชิงเอกสาร สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาจากสื่อสารสนเทศ การสำรวจข้อมูลภาคสนาม การสังเกตการณ์งานสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ การละคร และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย จากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ เพื่อศึกษารูปแบบและองค์ประกอบในการแสดง ทำการทดลองปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนดำเนินการพัฒนา แก้ไขปรับปรุงการแสดง นำเสนอผลงานการแสดงสู่สาธารณชน สรุปผล และนำเสนอเป็นผลงานการวิจัยตามลำดับ ผลของการวิจัยพบว่า ในด้านการสร้างสรรค์การแสดง สามารถจำแนกตามองค์ประกอบของการแสดงได้ 8 ประการ ได้แก่ 1) บทการแสดง สร้างสรรค์โครงเรื่องจากปลากัดและพฤติกรรมการมีอาณาเขตครอบครอง 2) นักแสดง มีความสามารถในการแสดงนาฏยศิลป์ตะวันตก และนาฏยศิลป์ไทย 3) ลีลา ใช้แนวทางของนาฏยศิลป์ร่วมสมัย เทคนิคต่าง ๆ ประยุกต์ผสมผสานท่าการเคลื่อนไหวนาฏยศิลป์รูปแบบอื่น ๆ 4) ดนตรีและเสียงประกอบการแสดง ใช้เสียงจากสิ่งแวดล้อมและดนตรีไทยร่วมสมัยรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ประพันธ์และเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ 5) การฉายภาพประกอบการแสดงผ่านอุปกรณ์เทคนิคการฉายภาพหลายรูปแบบ ใช้ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และสื่อการนำเสนอภาพสด 6) สถานที่แสดง มีลักษณะของพื้นที่เฉพาะเปรียบเสมือนโหลของปลากัดแต่ละตัว 7) แสง ออกแบบเพื่อสนับสนุนการฉายภาพประกอบการแสดง 8) เครื่องแต่งกาย การออกแบบตามแนวคิดความเรียบง่ายตามรูปแบบค่านิยมความงามของนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ และนอกจากนี้ในด้านแนวคิดของการแสดงนาฏยศิลป์ที่ปรากฏภายหลังจากการสร้างสรรค์ผลงาน พบว่ามีแนวคิด 7 ประการ ได้แก่ 1) การคำนึงถึงการสร้างสรรค์การแสดงเกี่ยวกับปลากัดและพฤติกรรมการมีอาณาเขตครอบครอง 2) หลักการออกแบบนาฏยศิลป์ร่วมสมัยร่วมกับการฉายภาพสำหรับการแสดง 3) ความเรียบง่ายตามแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) องค์ประกอบทางด้านศิลปกรรม 5) การใช้พื้นที่เฉพาะในการจัดการแสดง 6) การให้ผู้ชมเคลื่อนที่ตามการแสดงไปในพื้นที่ต่าง ๆ และ 7) การสร้างสรรค์การแสดงที่เป็นศิลปะเพื่อศิลปะ การวิจัยเชิงสร้างสรรค์ครั้งนี้ จึงเป็นการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลงานสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ โดยการเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างสาขา เพื่อหากระบวนการในการสร้างสรรค์ เป็นแนวทางในการพัฒนาการนำเสนอนาฏยศิลป์ในพื้นที่เฉพาะ ที่สนับสนุนการสร้างสรรค์การแสดงนาฏยศิลป์ทดลองในรูปแบบที่เปิดกว้างในวงการการศึกษานาฏยศิลป์ เป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการศึกษาการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัยร่วมกับการฉายภาพต่อไป