Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสืบทอดเนื้อหาและแนวคิด กลวิธีการเล่าเรื่องและรูปแบบการนำเสนอ รวมถึงความสำคัญของเรื่องเล่าทศชาติชาดกในสังคมไทยร่วมสมัย ผู้วิจัยเลือกศึกษาจากเรื่องเล่าทศชาติชาดกที่สร้างสรรค์ขึ้นระหว่างพ.ศ. 2500-พ.ศ. 2556 ผลการศึกษาพบว่า เรื่องเล่าทศชาติชาดกเป็นวรรณคดีชาดกสมัยใหม่มีทั้งที่เล่าชาดกเพียงหนึ่งเรื่องหรือเล่าเป็นชุดชาดกทั้งสิบเรื่อง โดยใช้รูปแบบการนำเสนอและกลวิธีเล่าเรื่องหลากหลาย ได้แก่ 1) รูปแบบร้อยกรองขนาดยาว และ 2) รูปแบบร้อยแก้ว ใช้บทพรรณนากับภาษาจินตภาพสร้างอารมณ์สะเทือนใจและสร้างรสทางวรรณคดี 3) รูปแบบหนังสือภาพประกอบเรื่อง มีการดัดแปลงเนื้อหาและการสร้างสรรค์ภาพประกอบ ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างภาพจิตรกรรมกับการเล่า ทศชาติชาดก และ 4) รูปแบบการ์ตูนกับการ์ตูนแอนิเมชัน มีการดัดแปลงเนื้อหาและลดรายละเอียดต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยนบุคลิกลักษณะและการเพิ่มลดตัวละคร เรื่องเล่าทศชาติชาดกทุกรูปแบบแสดงการสืบทอดเรื่องทศชาติชาดก และแนวคิดทศบารมีในสังคมไทย ทั้งในความหมายที่เป็นบารมีของพระโพธิสัตว์และคุณธรรมที่บุคคลทั่วไปสามารถปฏิบัติตามได้ นอกจากนี้ ยังแสดงการสืบทอด ขนบวรรณคดีที่สัมพันธ์กับชาดก ได้แก่ การสืบทอดขนบการสร้างงานเพื่อสร้างกุศล การสืบทอดขนบการบูชาครู ขนบการเฉลิมพระเกียรติ ขนบวรรณคดีคำสอน การคงปัจจุบันวัตถุและสโมธานตาม อรรถกถาชาดก การใช้ฉันทลักษณ์ และการใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์ต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มีการสร้างสรรค์ใหม่เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์และกลุ่มผู้อ่านที่หลากหลายมากขึ้น เรื่องเล่าทศชาติชาดกบางเรื่องมีการตีความใหม่ที่ต่างไปจากเดิม แต่ยังคงอยู่ในกรอบของการสร้างอุดมคติหรือการใช้ชาดกเพื่อถ่ายทอดแนวคิดคำสอนทางพระพุทธศาสนา เรื่องเล่าทศชาติชาดกเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่า ทศชาติชาดกเป็นที่มาสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์วรรณคดีพระพุทธศาสนาสมัยใหม่ที่มีบทบาทในการปลูกฝังแนวคิดและคำสอน พลวัตของการสืบทอดขนบและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อให้วรรณคดีชาดกยังคงดำรงคุณค่าอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยในฐานะเครื่องอบรมปัญญาอันเป็นอุดมคติสูงสุดของพระพุทธศาสนา