Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพตัวแทนคนอีสานที่สื่อผ่านภาษาในหนังสือพิมพ์ระดับชาติและหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่นระหว่างปี พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2556 ตามแนวการศึกษาวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ และศึกษาเปรียบเทียบภาพตัวแทนคนอีสานในหนังสือพิมพ์ระดับชาติกับหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่นในช่วงเวลาดังกล่าว ศึกษาข้อมูลในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 รวมเป็นระยะเวลา 10 ปี ผลการศึกษาพบว่า หนังสือพิมพ์ระดับชาติมีการใช้กลวิธีทางภาษาในการนำเสนอภาพตัวแทนคนอีสานที่สำคัญทั้งสิ้น 8 กลวิธี ได้แก่ 1) การใช้คำ/กลุ่มคำ 2) การใช้อุปลักษณ์ 3) การแนะความ 4) การใช้ประโยคแสดงความสัมพันธ์แบบมีเงื่อนไข 5)การใช้โครงสร้างประโยคแบบเหตุ-ผล 6) การใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ 7) การใช้โครงสร้างประโยคกรรม และ 8) การใช้สหบท กลวิธีทางภาษาทั้งหมดนี้ได้นำเสนอภาพตัวแทนคนอีสานในหนังสือพิมพ์ระดับชาติ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ในแง่บุคลิกลักษณะและอุปนิสัย คือ คนอีสานรักศักดิ์ศรีและภูมิใจในท้องถิ่น คนอีสานอดทน และคนอีสานรักพวกพ้องและมีน้ำใจ 2) ในแง่สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ คือ คนอีสานมีความรู้น้อยและด้อยโอกาส คนอีสานคือชนชั้นแรงงาน คนอีสานถูกกระทำจากคนต่างกลุ่ม และคนอีสานในหัวเมืองใหญ่มีฐานะที่ดีขึ้น 3) ในแง่การเมือง คือ คนอีสานคือฐานเสียงสำคัญและมีบทบาททางการเมือง และคนอีสานเป็นเหยื่อทางการเมือง ส่วนหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่นมีการใช้กลวิธีทางภาษาในการนำเสนอภาพตัวแทนคนอีสานที่สำคัญทั้งสิ้น 6 กลวิธี ได้แก่ 1) การใช้คำ/กลุ่มคำ 2) การใช้อุปลักษณ์ 3) การแนะความ 4) การใช้โครงสร้างประโยคกรรม 5) การใช้สหบท และ 6) การใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ กลวิธีทางภาษาทั้งหมดนี้ได้นำเสนอภาพตัวแทนคนอีสานในหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่น 3 กลุ่ม 1) ในแง่บุคลิกลักษณะและอุปนิสัย คือ คนอีสานมีอัตลักษณ์และภูมิปัญญาที่น่าภูมิใจ คนอีสานยึดมั่นและให้ความเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์ คนอีสานรักพวกพ้องและมีน้ำใจ 2) ในแง่สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ คือ คนอีสานมีความรู้น้อยและด้อยโอกาส คนอีสานคือชนชั้นแรงงาน และคนอีสานในหัวเมืองใหญ่มีฐานะที่ดีขึ้น 3) ในแง่การเมือง คือ คนอีสานคือฐานเสียงสำคัญและมีบทบาททางการเมือง คนอีสานไม่ต้องการแบ่งฝ่าย และคนอีสานสนองนโยบายของรัฐบาล งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าภาพตัวแทนคนอีสานที่ปรากฏสัมพันธ์กับปริบททางสังคมวัฒนธรรมและสื่อนัยเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคม แม้ว่าภาพตัวแทนคนอีสานที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ระดับชาติและระดับท้องถิ่นจะมีจำนวนภาพตัวแทนที่เท่ากัน แต่มีความต่างในแง่การเลือกเน้นย้ำภาพตัวแทนที่ต่างกัน กล่าวคือ ในหนังสือพิมพ์ระดับชาติมีการนำเสนอภาพในด้านที่น่าเห็นใจและไม่พึงประสงค์มากกว่าในด้านที่ดีและพึงประสงค์ ในขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่นมีการนำเสนอภาพตัวแทนคนอีสานในด้านที่ดีและพึงประสงค์มากกว่าด้านที่น่าเห็นใจและไม่พึงประสงค์ ผู้ร่วมเหตุการณ์การสื่อสาร จุดยืน และวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันของหนังสือพิมพ์ระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมถึงปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม อาทิ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม น่าจะมีอิทธิพลต่อการนำเสนอภาพตัวแทนที่แฝงนัยแง่ความไม่เท่าเทียมกันดังกล่าว