Abstract:
วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้เป็นการศึกษาแบบสหศาสตร์ที่บูรณาการความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ปฏิบัติการภัณฑารักษ์และอาณาบริเวณศึกษา เพื่อวิเคราะห์แนวทางปฏิบัติการภัณฑารักษ์ (the curatorial) เกี่ยวกับเรื่องเล่าขนาดย่อม (small narratives) ในอุษาคเนย์ นำไปสู่การสร้างสรรค์นิทรรศการและปฏิบัติการภัณฑารักษ์ศิลปะร่วมสมัยในบริบทของภูมิภาค จากปฏิบัติการภัณฑารักษ์ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยเห็นปัญหาในสามระดับ คือ ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ จากปัญหาทางประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักที่มองว่าไทยเป็นศูนย์กลางและไม่ตกอยู่ในภาวะอาณานิคมเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ตลอดจนกระแสความคิดเรื่องชาตินิยมและอนุรักษ์นิยม อันส่งอิทธิพลต่อการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของศิลปะร่วมสมัยในบริบทภูมิภาค ในแง่หนึ่งทำให้ไทยโดดเดี่ยวตนเองจากภูมิภาค แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามในการแสวงหาการยอมรับในเวทีนานาชาติ จากวิธีปฏิบัติการภัณฑารักษ์โดยสร้างนิทรรศการชื่อว่า “Missing Links” ผ่านกรอบความคิดเรื่องอาณานิคมอำพราง (crypto-colonialism) และการวิเคราะห์ข้อมูลที่ศึกษาในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้วิจัยค้นพบแนวทางการรื้อถอนแนวคิดอาณานิคมอำพราง (de-cyptocolonization) เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของศิลปะร่วมสมัยไทยให้หลุดจากกรอบคิดที่มีตะวันตกเป็นศูนย์กลาง และหันกลับมายึดโยงมุมมองแบบภูมิภาคนิยม ผ่านปฏิบัติการภัณฑารักษ์ โดยงานวิจัยนี้นำเสนอการเชื่อมโยงผ่านประเด็นเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่ (modernity) สภาวะของเมือง (urban conditions) การพลัดถิ่น (diaspora) และอัตลักษณ์ (identity) ทั้งนี้กระบวนการปฏิบัติการภัณฑารักษ์จึงเผยให้เห็นถึงร่องรอยของความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับภูมิภาคอุษาคเนย์ผ่านการคัดสรรผลงานศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงสภาวะดังกล่าว