Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมต่อการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ และการรับรู้ความสามารถของตนในการลดน้ำหนัก ในนิสิตนักศึกษาหญิงระดับปริญญาบัณฑิตที่กำลังลดน้ำหนักและมีพฤติกรรมรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ โดยการวิจัยครั้งนี้มีลักษณะเป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีการเก็บข้อมูลก่อนและหลังการทดลอง โดยเปรียบเทียบข้อมูลในกลุ่มทดลองที่เข้ากลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยากับข้อมูลที่ได้รับจากกลุ่มควบคุมซึ่งมิได้เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าวนี้ กลุ่มตัวอย่างคือนิสิตนักศึกษาหญิง อายุ 20-24 ปีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาบัณฑิต จำนวน 45 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 21 คนและกลุ่มควบคุม 24 คน โดยกลุ่มทดลองเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยม กลุ่มละ 6-8 คน รวม 8 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบประเมินการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ และแบบประเมินการรับรู้ความสามารถของตนในการลดน้ำหนัก ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุนามสองทางแบบผสานวิธี (Two-way Mixed design MANOVA) พบว่า 1. หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ ต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2. หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนการรับรู้ความสามารถของตนในการลดน้ำหนักสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3. หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 4. หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนการรับรู้ความสามารถของตนในการลดน้ำหนักสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ