Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างทางวากยสัมพันธ์ของหน่วยสร้างภาคแสดงพรรณนาเหตุการณ์ตั้งวางและหยิบฉวยวัตถุในภาษาไทย และปัจจัยที่มีบทบาทต่อการเลือกใช้หน่วยสร้างภาคแสดงพรรณนาเหตุการณ์ตั้งวางและหยิบฉวยวัตถุในแต่ละโครงสร้าง จากมุมมองภาษาศาสตร์ปริชาน ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยชิ้นนี้เก็บจากผู้บอกภาษาโดยใช้เครื่องมือเก็บข้อมูลภาษาภาคสนามในรูปแบบของชุดวีดิทัศน์สั้นจำนวน 44 วีดิทัศน์ ผลการวิจัยพบว่า โครงสร้างทางวากยสัมพันธ์ของหน่วยสร้างภาคแสดงพรรณนาเหตุการณ์ตั้งวางและหยิบฉวยวัตถุในภาษาไทยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามจำนวนคำกริยาที่ปรากฏในหน่วยสร้างภาคแสดง ได้แก่ หน่วยสร้างภาคแสดงเดี่ยวและหน่วยสร้างภาคแสดงซับซ้อน หน่วยสร้างภาคแสดงเดี่ยวมีคำกริยาแสดงการตั้งวางหรือกริยาแสดงการปรากฏเพียงหนึ่งคำ ในขณะที่หน่วยสร้างภาคแสดงซับซ้อนมีกริยาอื่นนอกเหนือจากคำกริยาแสดงการตั้งวางและหยิบฉวยวัตถุปรากฏเพิ่มเข้ามาในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อแสดงแง่มุมทางความหมายที่โดนเด่นในเหตุการณ์ หน่วยสร้างภาคแสดงที่แตกต่างกันสะท้อนให้เห็นความแตกต่างในด้านกระบวนการสร้างมโนทัศน์ในการรับรู้เหตุการณ์ ความหลากหลายของหน่วยสร้างภาคแสดงพรรณนาเหตุการณ์ตั้งวางและหยิบฉวยวัตถุในภาษาไทยสามารถอธิบายได้ด้วยกระบวนการเลือกรับรู้ 4 ประเภท ได้แก่ ความจำเพาะเจาะจงของเหตุการณ์ การมุ่งสนใจไปเฉพาะส่วนของเหตุการณ์ ความโดดเด่นของบางองค์ประกอบเหตุการณ์ และการจัดมุมมองในการมองเหตุการณ์