Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์การนำเสนอภาพป่าและมนุษย์ที่สัมพันธ์กับวาทกรรมการพัฒนาในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทยในนวนิยายชุด เพชรพระอุมา จากการศึกษาพบว่าตัวบทนำเสนอภาพป่าในฐานะพื้นที่ที่มีการปะทะกันระหว่างการพัฒนากับความเป็นพื้นถิ่น พื้นที่ป่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 บริเวณ ซึ่งแต่ละบริเวณถูกนำเสนอให้มีระดับการพัฒนาที่ต่างกัน พื้นที่แรกคือเมืองในป่า พื้นที่นี้เป็นภาพแทนของความเป็นอารยะ พื้นที่ที่สองคือป่าที่ถูกสำรวจ พื้นที่นี้เป็นภาพแทนอาณานิคมภายในของไทยหมายถึงพื้นที่ภายใต้การควบคุมของอำนาจรัฐ พื้นที่ที่สามคือป่าหลงสำรวจ พื้นที่นี้เป็นภาพแทนของความท้าทายจากโลกอื่น นอกเหนือจากนั้นสัตว์ป่าและพืชที่เป็นภาพแทนพื้นที่ป่าถูกนำเสนอภาพให้สามารถโต้กลับ การพัฒนาได้แสดงให้เห็นการวิพากษ์วาทกรรมการพัฒนา นอกจากนี้ ตัวบทนำเสนอภาพมนุษย์กับวาทกรรมการพัฒนาผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในประเด็นเรื่องชาติพันธุ์และเพศสถานะ ในประเด็นชาติพันธุ์ตัวบทนำเสนอการวิพากษ์ วาทกรรมการพัฒนาโดยการให้ภาพตัวละครเอกไทยที่มีการผสมผสานทั้งความเป็นอารยะและความเป็นพื้นถิ่นเป็นตัวละครในอุดมคติ การให้ภาพวัฒนธรรมที่ดีงามของคนไทยในฐานะความเป็นอารยะที่เหนือกว่าคนตะวันตก และการให้ภาพคนตะวันตกเป็นผู้พ่ายแพ้ป่า ไม่เพียงเท่านั้นความสัมพันธ์กับบริบทสังคมไทยตัวบทนำเสนอด้วยการเสียดสีถึงการใช้การพัฒนาอย่างไม่ถูกต้องของรัฐบาลไทย และในประเด็นเพศสถานะตัวบทวิพากษ์การพัฒนาโดยให้ภาพผู้หญิงอยู่ในฐานะภัยอันตราย ความแข็งแกร่ง และความเป็นอื่น