Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับภาพแทนของผู้ให้สัมภาษณ์ที่เรียกว่า “เซเลบริตี้” ที่สื่อผ่านบทสัมภาษณ์ในนิตยสารภาษาไทยโดยอาศัยกรอบวาทกรรมเชิงวิพากษ์ตามแนวภาษาศาสตร์ การวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ที่นำเสนอเป็นประจำและบทสัมภาษณ์พิเศษที่ระบุว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับ “เซเลบริตี้” ไทย ในนิตยสาร โดยพิจารณาจากสโลแกนประจำนิตยสารที่มีการระบุคำสำคัญว่า “เซเลบริตี้” (celebrity/celebrities) หรือมีเนื้อหาที่บ่งบอกชัดเจนว่านำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “เซเลบริตี้” เท่านั้น จากเกณฑ์ดังกล่าวผู้วิจัยเลือกนิตยสาร จำนวน 4 ชื่อฉบับ ได้แก่ HOWE, HISOPARTY, HELLO! และ OK! ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลตั้งแต่ฉบับเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2557 และฉบับเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. 2558 ผลการศึกษาพบว่า ความหมายระดับมหภาคที่สื่อผ่านบทสัมภาษณ์ที่ปรากฏซ้ำๆ ได้แก่ ในส่วนบทนำ คอลัมนิสต์นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงชื่นชม หรือสื่อความหมายที่มีนัยด้านบวกอย่างต่อเนื่อง โดยมากจะเน้นการนำเสนอเรื่องรายละเอียดในชีวิตส่วนตัว หรือภูมิหลังที่มาของผู้ให้สัมภาษณ์ที่เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ ชื่อ นามสกุล คำนำหน้าชื่อที่ปรากฏในสังคม หน้าที่การงาน รูปลักษณ์ บุคลิกภาพ ชีวิตครอบครัว กลุ่มเพื่อน ที่อยู่อาศัย ความสำเร็จด้านต่างๆ และรูปแบบการใช้ชีวิตหรือรสนิยมที่มีระดับ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงช่วงชีวิตที่ยากลำบากของผู้ให้สัมภาษณ์ปรากฏในปริจเฉทด้วย และในส่วนเนื้อหา ผู้ให้สัมภาษณ์นำเสนอตนเองว่ามีรูปแบบการใช้ชีวิตหรือรสนิยมที่แตกต่างไปจากบุคคลโดยทั่วไปในสังคม ในระดับกลวิธีทางภาษาพบว่า บทสัมภาษณ์ที่ศึกษาแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนถ้อยคำของคอลัมนิสต์ และส่วนถ้อยคำของผู้ให้สัมภาษณ์ ในการวิเคราะห์ส่วนถ้อยคำของคอลัมนิสต์พบ 7 กลวิธีหลัก ได้แก่ การใช้คำอ้างถึงแบบจัดกลุ่มบุคคลในสังคม การใช้คำอ้างถึงแบบระบุความสัมพันธ์ของบุคคล การเรียกชื่อของบุคคล การใช้คำอ้างถึงแบบระบุตำแหน่งหน้าที่ของบุคคล การใช้คำแสดงความชื่นชม การใช้คำเพิ่มน้ำหนัก และการใช้สหวาทกรรม และในการวิเคราะห์ส่วนถ้อยคำของผู้ให้สัมภาษณ์พบ 2 กลวิธีหลัก ได้แก่ การใช้ชุดคำศัพท์เกี่ยวกับการใช้ชีวิต และการใช้มูลบท กลวิธีทางภาษาทั้งสองส่วนนำเสนอภาพแทนที่สอดคล้องกัน กล่าวคือ “เซเลบริตี้” มีชีวิตสมบูรณ์แบบ เป็นผู้ที่โดดเด่นทุกด้านทั้งสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ รูปลักษณ์ หน้าที่การงาน รสนิยม และคู่กับการใช้สินค้าแบรนด์เนมและไฮเอนด์ ในการวิเคราะห์วิถีปฏิบัติทางวาทกรรม ทำให้เห็นว่าการคัดเลือกประเด็นเนื้อหาในบทสัมภาษณ์ที่นำเสนอ รวมถึงการใช้ภาษาและวาทกรรมในตัวบทที่ถ่ายทอดออกไปสู่สังคมต่างก็ถูกควบคุมและดูแลตามเงื่อนไขขององค์กรสื่อมวลชน ในการวิเคราะห์วิถีปฏิบัติทางสังคมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับตัวบทที่ศึกษา ได้แก่ แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย ประกอบด้วยแนวคิดเรื่องทุนที่สะสมในบุคคลและทุนทางวัฒนธรรม และแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมบริโภค และสถานการณ์และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นขณะที่ผลิตตัวบท ประกอบด้วยสถานการณ์ความนิยม “เซเลบริตี้” ในสังคม เหตุการณ์ที่เป็นกระแสในสังคม และการนำเสนอภาพของ “เซเลบริตี้” ในฐานะผู้นำเสนอสินค้าในสังคม จากมุมมองวาทกรรมเชิงวิพากษ์ภาพแทนเหล่านี้บางส่วนดูเหมือนเป็นภาพแทนที่สมบูรณ์เกินจริงและขัดแย้งกับภาพที่ปรากฏในวาทกรรมอื่น ผู้รับสารจึงควรตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วผู้ส่งสารกำลังพยายามสร้างมายาคติหรือภาพแทนจากมุมมองหนึ่ง เพื่อประโยชน์บางประการของผู้มีส่วนในการผลิตวาทกรรมหรือไม่