Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษากลวิธีการสืบทอดและการสร้างสรรค์บทการแสดงโขนพระราชทาน และศึกษาบทบาทของบทการแสดงโขนพระราชทานที่มีต่อการแสดงโขนของไทย ผลการศึกษาพบว่า บทการแสดงโขนพระราชทานมีลักษณะเป็นบทการแสดงโขนฉาก คือ มีการแบ่งฉากการแสดงตามเนื้อเรื่อง มีการใช้บทการแสดงที่ประกอบด้วยบทร้อง บทเจรจา บทพากย์ การกำกับเพลงร้อง และการกำกับเพลงหน้าพาทย์ และมีการบรรจุเพลงแบบละเอียด โดยกำกับเพลงร้องและเพลงหน้าพาทย์ในทุกจุดของบทการแสดง เมื่อวิเคราะห์บทการแสดงของโขนพระราชทานแล้ว สามารถแบ่งได้เป็นส่วนของเนื้อเรื่องและการปรุงบทการแสดง ในด้านเนื้อเรื่อง พบว่าเนื้อเรื่องในบทการแสดงโขนพระราชทานทั้ง 7 ชุด เป็นเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ที่นิยมใช้แสดงโขนมาตั้งแต่อดีต และบทการแสดงโขนพระราชทานมีลักษณะการสืบทอดเนื้อเรื่องจากบทการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ทั้งบทพากย์ในประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ บทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 บทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 และบทคอนเสิดเรื่องรามเกียรติ์พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ส่วนด้านการปรุงบทการแสดง พบว่าบทการแสดงโขนพระราชทานใช้บทการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ในยุคก่อนหน้าหลายฉบับเป็นวัตถุดิบในการปรุงบท ประกอบด้วย บทพากย์ในประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ บทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 บทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 บทคอนเสิดเรื่องรามเกียรติ์พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ รามเกียรติ์บทร้องและบทพากย์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 บทการแสดงโขนของกรมศิลปากรฉบับต่างๆ และบทการแสดงโขนพระราชทานชุดเดียวกันที่เคยใช้แสดงในปีก่อนหน้า การปรุงบทมี 3 ลักษณะ คือ การสืบทอด การดัดแปลง และการสร้างสรรค์ กลวิธีที่ใช้ในการปรุงบทขึ้นอยู่กับประเภทของบทการแสดงต้นแบบ และจุดประสงค์ที่จะนำบทการแสดงดังกล่าวไปใช้ในบทการแสดงโขนพระราชทาน บทการแสดงโขนพระราชทานในช่วงแรกมีลักษณะการสืบทอดที่ค่อนข้างเข้มข้น การดัดแปลงหรือสร้างสรรค์บทการแสดงเกิดขึ้นน้อยมาก โดยเฉพาะในบทการแสดงโขนพระราชทานชุดพรหมาศ พ.ศ.2552 และชุดนางลอย พ.ศ.2553 แต่หลังจากชุดศึกมัยราพณ์ พ.ศ.2554 เป็นต้นมา บทการแสดงโขนพระราชทานเริ่มมีลักษณะการดัดแปลงและการสร้างสรรค์ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แสดงถึงพัฒนาการของบทการแสดงโขนพระราชทานได้เป็นอย่างดี การวิเคราะห์บทการแสดงโขนพระราชทานแสดงให้เห็นถึงลักษณะเด่น 4 ประการของบทการแสดงโขนพระราชทาน คือ ความรวดเร็ว เอกภาพ อรรถรส รวมถึงฉากและเทคนิคการแสดงพิเศษ ลักษณะเด่นทั้ง 4 ประการดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดรูปแบบเฉพาะของการแสดงโขนขึ้นในวงการโขนของไทย รูปแบบเฉพาะดังกล่าวทำให้การแสดงโขนพระราชทานได้รับความนิยมจากผู้ชม และทำให้เรื่องรามเกียรติ์และการแสดงโขนของไทยสามารถดำรงอยู่ในสังคมร่วมสมัยได้