Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษารวบรวม "คติชนสร้างสรรค์" จากความเชื่อเรื่องครูหมอโนราในปัจจุบันในรูปแบบต่างๆ ที่ตำบลท่าแค จังหวัดพัทลุง พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยและบทบาทของการสร้างสรรค์ในรูปแบบดังกล่าว โดยเก็บข้อมูลภาคสนามในช่วงปี 2557-2560 จากโนราทั้ง 2 ประเภท คือโนราพิธีกรรมและโนราบันเทิง ผลการศึกษาพบว่า “คติชนสร้างสรรค์” จากความเชื่อเรื่องครูหมอโนราที่ตำบลท่าแค จังหวัดพัทลุง พบทั้งในโนราพิธีกรรมและโนราบันเทิง ในโนราพิธีกรรมมีทั้งการสร้างสรรค์จากคติชนในลักษณะที่เป็น "คติชนสร้างสรรค์" คือพิธีกรรมและองค์ประกอบพิธีกรรมที่สร้างใหม่เพื่อเน้นการสืบทอดความเชื่อเดิมที่มีมาในวิถีชีวิต และการสร้างสรรค์จากคติชนในลักษณะที่เป็น "สินค้าวัฒนธรรม" เพื่อจำหน่ายเป็นสำคัญ ได้แก่ เครื่องรางของขลัง และของที่ระลึกต่าง ๆ ที่มาจากอุปกรณ์ในการประกอบพิธีกรรมและการแสดง ส่วนโนราบันเทิงมีการตั้ง “คณะเทพศรัทธา” ขึ้นเพื่อการแสดงโนราเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่ การแข่งขันในรายการคนไทยขั้นเทพ การสร้างสรรค์ละครร้องเรื่องไกรทอง และการแสดงภาพยนตร์เรื่องเทริด นอกจากนี้ยังมีการสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายขึ้นใหม่ในโนราลูกทุ่งบันเทิงอีกด้วย ปรากฏการณ์ "คติชนสร้างสรรค์" ที่เกิดขึ้นที่ตำบลท่าแคนี้เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ นโยบายของหน่วยงานราชการทั้งภายในและภายนอกชุมชน ที่เป็นหน่วยงานภายในชุมชน คือเทศบาลตำบลท่าแค และโรงเรียนบ้านท่าแค (วันครู 2500) ส่วนหน่วยงานภายนอกชุมชน คือจังหวัดพัทลุงและสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง ปัจจัยต่อมาคือการเปลี่ยนเจ้าพิธีกรรมใหม่ของโนราโรงครูวัดท่าแค และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างมากคือ บริบทการท่องเที่ยว งานวิจัยนี้ทำให้เห็นวิธีคิดเชิงคติชนสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นกับโนราในตำบลท่าแค กล่าวคือ วิธีคิดที่ปรากฏในโนราพิธีกรรม ได้แก่ การย้ำความเป็นของแท้ (authenticity) การสร้างพิธีกรรมใหม่บนฐานความเชื่อของพิธีกรรมเดิม การขยายความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอโนราสู่คนทั่วไป และการขยายพิธีโนราโรงครูให้มีมิติของการเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม (cultural commodification) ส่วนโนราบันเทิงมีวิธีคิดเชิงคติชนสร้างสรรค์คือ การสร้างเครือข่ายราชครูโนราให้เป็นคณะเทพศรัทธา การนำเสนอโนราผ่านสื่อสมัยใหม่และนำเสนอในรูปแบบการแสดงอื่น ๆ ทั้งยังมีการอิงการแสดงโนราแบบเดิมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่อีกด้วย "คติชนสร้างสรรค์" ที่เกิดขึ้นจากวิธีคิดเหล่านี้มีบทบาทในการสืบทอดความเชื่อเรื่องครูหมอโนราทั้งในพื้นที่โลกศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่โลกสามัญ และยังมีบทบาทในการธำรงความเป็นพื้นที่ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดโนราผ่านพิธีกรรมและตราสัญลักษณ์ที่แสดงอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ท่าแคอย่างชัดเจน การศึกษาครั้งนี้จึงทำให้เข้าใจวิธีคิด พลวัต ปัจจัย และบทบาทของ "คติชนสร้างสรรค์" เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องครูหมอโนราที่เกิดขึ้นกับโนราที่ตำบลท่าแค จังหวัดพัทลุงในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย ซึ่งจะเป็นแนวทางในการศึกษาการสร้างสรรค์จากคติชนทั้งในแง่ของการเป็น "คติชนสร้างสรรค์" ประเภทต่าง ๆ ตามศาสตร์ทางคติชนวิทยาและการเป็น "สินค้าวัฒนธรรม" ซึ่งจะพบในพื้นที่อื่น ๆ อย่างหลากหลายได้ต่อไป