Abstract:
จากการสำรวจงานวิชาการที่ศึกษาเรื่องภาษาในหลุนอี่ว์พบว่าเป็นการศึกษาภาษาในขอบเขตของแนวคิด “การทำนามให้เที่ยง” หรือเจิ้งหมิง (Rectification of Names) งานศึกษาเหล่านั้นยังจำกัดขอบเขตการศึกษาการใช้ภาษาในหลุนอี่ว์ไว้ที่ถ้อยคำ (words) ที่สื่อสารโดยใช้คำพูด แต่ยังไม่มีงานศึกษา ‘ความเงียบ (silence)’ ที่ปรากฏในหลุนอี่ว์ ด้วยข้อพิจารณาเหล่านี้จึงน่าสนใจที่จะศึกษาวิเคราะห์บทบาทของ ‘ความเงียบ’ ผ่านทาง ‘สิ่งที่พูด (said)’ โดยขงจื่อ สิ่งนี้จะทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของ ‘ความเงียบ’ ในฐานะยุทธวิธีในการถ่ายทอดสารทางปรัชญาในหลุนอี่ว์ ซึ่งวิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่า ‘ความเงียบ’ สามารถถูกใช้เพื่อขัดเกลามนุษย์ให้อยู่ในวิถีทางของขงจื่อได้ ในการศึกษา ‘สาร’ ทางปรัชญาที่ปรากฏผ่าน ‘ความเงียบ’ ของขงจื่อ เราสามารถสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ “สิ่งที่ไม่ได้พูด (unsaid)’ ซึ่งเสนอว่า ‘ความเงียบ’ แสดงการผ่อนปรน ความอดทนอดกลั้น และการพยายามถนอมรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ทั้งนี้มียุทธวิธีการสื่อสารสามแบบที่แสดงผ่าน ‘ความเงียบ’: การพูดโดยอ้อม การหยุดการสนทนา และการสื่อความผ่านท่าทาง ขงจื่อมักจะใช้ยุทธวิธีการสื่อสารเหล่านี้ในการพูดให้น้อยที่สุดเพื่อให้ผู้อื่นแสวงหา “สามแง่มุมที่เหลือ” ด้วยตัวของเธอและเขาเอง ดังนั้นการอธิบายความหมายเชิงปรัชญาที่ซับซ้อนของ ‘ความเงียบ’ ในหลุนอี่ว์จะช่วยดึงความหมายที่ “ซ่อน” อยู่ของสิ่งที่พูดโดยผู้รู้ออกมาได้