Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมตำนานเกี่ยวกับพระนางจามเทวีที่นำมาผลิตซ้ำในรูปแบบต่าง ๆ ในปัจจุบันและวิเคราะห์วิธีคิดในการผลิตซ้ำตำนานพระนางจามเทวีในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งวิเคราะห์วิธีการสร้างความหมายและพื้นที่ทางสังคมผ่านพิธีบวงสรวงพระนางจามเทวี ผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนามในช่วง พ.ศ. 2556 - 2560 ในพื้นที่ที่จัดพิธีบวงสรวงพระนางจามเทวี ได้แก่ จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ จังหวัดแพร่ น่าน และจังหวัดลพบุรี ผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบันมีการนำตำนานพระนางจามเทวีมาผลิตซ้ำในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นรูปเคารพ วัตถุมงคล บทเพลง จิตรกรรม บทกวี ละคร และพิธีกรรม โดยมีวิธีคิดในการเลือกสำนวนหรือตอนต่าง ๆ ในตำนานพระนางจามเทวีที่มีความเกี่ยวข้องมาอ้างอิง ผู้จัดงานในปัจจุบันมีวิธีคิดในการสร้างพิธีบวงสรวงพระนางจามเทวีโดยการผนวกพิธีบวงสรวงพระนางจามเทวีเข้ากับประเพณีเดิมที่มีอยู่แล้วในสังคม และการสร้างประเพณีใหม่ขึ้นโดยภาครัฐและชุมชน พิธีบวงสรวงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นวิธีคิดในการนำตำนานพระนางจามเทวีมาปรับใช้ในสังคมไทยร่วมสมัย ทั้งเพื่อให้เป็นพื้นที่แสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในบริบทการท่องเที่ยว พื้นที่แสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ และพื้นที่แสดงสำนึกทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น อีกทั้งยังมีบทบาทในด้านการเป็นพื้นที่ทางสังคมของผู้หญิงอีกด้วย บริบททางสังคมที่ส่่งผลให้เกิดพิธีบวงสรวงพระนางจามเทวีในปัจจุบัน คือ บริบทสังคมโลกาภิวัตน์และการท่องเที่ยว และบริบททุนนิยมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงลักษณะทางวัฒนธรรมทางศาสนาของไทย ทั้งการพึ่งพาอำนาจเหนือธรรมชาติ ความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผู้หญิงและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของผู้หญิงในสังคมไทย ตลอดจนการนับถือพระสงฆ์ในฐานะผู้นำทางวัฒนธรรมของชุมชน บริบทและลักษณะทางวัฒนธรรมเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “จามเทวีบูชา” ในช่วง 1- 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้