Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง วิกฤตการเมืองไทยกับปรากฏการณ์ถอดถอน “อดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปรากฏการณ์การถอดถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบนพื้นฐานกรอบแนวคิดหลักการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง หลักนิติรัฐ เจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผลการศึกษาพบว่า ปรากฏการณ์การถอดถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกับแนวคิดหลักการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง หลักนิติรัฐ เจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้การจัดวางโครงสร้างทางรัฐธรรมนูญในการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนับเป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหารในฐานะการแก้ไขความขัดแย้ง และเพื่อใช้อำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้การรัฐประหาร คำสั่ง หรือประกาศของคณะรัฐประหารเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการถอดถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ การทุจริตประพฤติมิชอบ ปัจจัยทางการเมือง และการตัดสิทธิทางการเมืองและรับราชการเป็นเวลา 5 ปี เพื่อกีดกันไม่ให้กลุ่มการเมืองเข้ามามีอำนาจในพื้นที่ทางการเมือง นอกจากนี้การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติถอดถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่ง แสดงถึงการปรับตัวของระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยผ่านกลไกทางกฎหมายได้อย่างชอบธรรม การกระทำดังกล่าวถือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับการรัฐประหารที่มุ่งหวังครองอำนาจและพยายามรักษากลไกทางกฎหมายเพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและความชอบธรรมทางการเมือง ดังนั้น การถอดถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงกลายเป็นบรรทัดฐานของแนวคิดการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย