Abstract:
ศึกษาพฤติกรรมการติดอินเตอร์เน็ต และระดับการติดอินเตอร์เน็ตของวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านประชากร ปัจจัยด้านครอบครัว และปัจจัยด้านบุคลิกภาพกับพฤติกรรมการติดอินเตอร์เน็ต เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ วัยรุ่นที่ใช้บริการอินเตอร์เน็ต ในร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่และห้องคอมพิวเตอร์ ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนทั่วเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 300 คน และผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชศาสตร์และนิเทศศาสตร์จำนวน 5 ท่าน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย, ค่าร้อยละ สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson Correlation) และค่าไคสแควร์ ในการทดสอบสมมติฐานการวิจัย และใช้ค่าสหสัมพันธ์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการติดอินเตอร์เน็ต การวิเคราะห์ความถดถอยแบบพหุ (Multiple Regression Analysis) เพื่อดูว่าตัวแปรใดบ้างที่สามารถทำนาย พฤติกรรมการติดอินเตอร์เน็ตได้มากที่สุด ผลการศึกษาพบว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่มีพฤติกรรมติดอินเตอร์เน็ตอยู่ในระดับต่ำ จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดพบว่าจำนวนวัยรุ่นที่ถูกวินิจฉัยว่า มีพฤติกรรมติดอินเตอร์เน็ตภายใต้หลักการของ DSM-IV มีจำนวน 79 คน คิดเป็น 26.3% การทดสอบค่าไคสแควร์พบว่า เพศ รายได้ต่อเดือน รายได้รวมของครอบครัว และบุคลิกภาพด้านพฤติกรรมไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับพฤติกรรมการติดอินเตอร์เน็ต แต่ระดับการศึกษา สถานภาพสมรสของบิดามารดา ความสัมพันธ์ในครอบครัวและบุคลิกภาพด้านอารมณ์ มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับพฤติกรรมการติดอินเตอร์เน็ต การวิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์เพียร์สันพบว่า บุคลิกภาพด้านอารมณ์ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ระดับการศึกษาและสถานภาพสมรสของบิดามารดา เป็นปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการติดอินเตอร์เน็ต สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการติดอินเตอร์เน็ตมากที่สุดคือ บุคลิกภาพด้านอารมณ์ ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการติดอินเตอร์เน็ตน้อยที่สุดคือ รายได้ต่อเดือน และตัวแปรที่สามารถทำนายพฤติกรรมการติดอินเตอร์เน็ตได้ชัดเจนมากที่สุด ได้แก่ บุคลิกภาพด้านอารมณ์ ระดับการศึกษา และเพศ