Abstract:
วัตถุประสงค์ของการประพันธ์เพลงที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดน่านของรองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน มีต้นกำเนิดจากการที่ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลวัฒนธรรมทางดนตรีในจังหวัดน่านของคณาจารย์สาขาวิชาดุริยางค์ไทย ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 รองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน ได้เห็นว่าวัฒนธรรมดนตรีของชาวจังหวัดน่านเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัว รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ที่มีเฉพาะในจังหวัดน่าน เป็นแรงบันดาลใจในการประพันธ์เพลงที่นำเพลงพื้นเมืองเฉพาะตัวของจังหวัดน่านมาผนวกกับวัฒนธรรมดนตรีไทยแบบราชสำนัก จวบจนถึงปัจจุบันได้ประพันธ์เพลงไปแล้วทั้งสิ้น 6 บทเพลง ได้แก่ เพลงระบำน้ำสอด เพลงโหมโรงฟ้าน่าน เพลงระบำสกุณาน่าน เพลงระบำชมพูภูคา เพลงฟ้าน่าน เถา และเพลงสกุณาน่าน เถา ผู้วิจัยพบวิธีที่ใช้ในการประพันธ์เพลงที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดน่านทั้งหมด 6 วิธี คือ ใช้ทำนองเพลงไทยมาเป็นเพลงต้นราก, ใช้ทำนองเพลงพื้นเมืองจังหวัดน่านเป็นเพลงต้นราก, ใช้วิธียักเยื้องลูกตก แล้วตกแต่งทำนองขึ้นใหม่, เปลี่ยน หรือโยกย้ายลูกตกให้ไปอยู่ในตำแหน่งใหม่แต่ยังอิงอยู่ในเพลงต้นรากเดิม, เปลี่ยนหรือโยกย้ายบันไดเสียงในทำนองเพลงเดียวกัน และประพันธ์ขึ้นตามจินตนาการโดยไม่อิงต้นรากใด ๆ ทั้งสิ้น