Abstract:
งานวิจัยเรื่องกรรมวิธีการสร้างโพนของครูฉลอง นุ่มเรือง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากรรมวิธีการสร้างโพนของครูฉลอง นุ่มเรือง และศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพเสียงโพนของครูฉลอง นุ่มเรือง โดยใช้วิธีการดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการเก็บข้อมูลภาคสนามที่ค่ายโพนป่ายางหูเย็น ตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง และฝากตัวเป็นศิษย์กับครูฉลอง นุ่มเรือง สังเกตและเป็นลูกมือช่างในการทำโพน ผลการศึกษาพบว่าด้วยใจรักงานช่างครูฉลอง นุ่มเรือง ได้เริ่มศึกษางานช่างจากบิดาซึ่งประกอบอาชีพเป็นช่างไม้ เริ่มต้นเรียนการทำโพนตั้งแต่อายุ 15 ปี สืบทอดภูมิปัญญาการสร้างโพนจากบรรพบุรุษทั้งหมด 4 ชั่วอายุ โพนตระกูลนุ่มเรืองมี 3 ขนาดคือ ขนาดเล็กมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 38 เซนติเมตร 48 เซนติเมตร และขนาดมากกว่า 48 เซนติเมตรขึ้น ส่วนสูงของโพนขึ้นอยู่กับความสมส่วนของหุ่นโพนกับขาโพนและส่วนสูงของผู้ตี ทั้งนี้มีสัดส่วนโดยประมาณของเส้นผ่านศูนย์กลางต่อส่วนสูงเท่ากับ 9:10 เวลา 1 เดือนผลิตได้ 5 ใบ คุณภาพเสียงโพนของครูฉลอง นุ่มเรือง ได้รับการยกย่องว่าดังก้อง ดังไกล เสียงพุ่งลอยขึ้นฟ้า คงทน สัดส่วนสวยงาม เมื่อส่งโพนเข้าประกวดในการจัดแข่งขันตีโพนประจำปีของจังหวัดพัทลุงได้รับรางวัลชนะเลิศ 7 ปีซ้อนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปี พ.ศ.2557 ภูมิปัญญาเชิงช่างในการสร้างโพนใช้อุปกรณ์ 69 ชนิดมีขั้นตอนการรสร้างทั้งหมด 12 ขั้นตอน ได้แก่ การเตรียมหนัง การตากหนัง การฆ่าหนัง การทำหุ่นโพน การขึงหนัง การทำลูกสัก การทำหวาย การใส่หวายและการใส่ลูกสัก การตกแต่งหนังโพน การทำเหล็กเส้นและการใส่เหล็กเส้น การทำขาโพนและการประกอบขาโพน การทำไม้ตีโพน องค์ความรู้ของครูฉลอง นุ่มเรือง สะท้อนวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นของชาวพัทลุง 6 ประการ ได้แก่ 1.การใช้ผ้าพันเขาวัวชนพันนิ้วป้องกันมีดบาดขณะเหลาหวายขึงกลอง 2.การคัดเลือกพันธุ์ไม้ 5 ชนิด คือ ไม้ตาลโตนด ไม้ขนุน ไม้ตะเคียน ไม้โท่ ไม้เทียมและไม้นาคบุตร 3.การเลือกใช้สมุนไพรตำเพื่อฟอกหนัง 4.การใช้น้ำมันมะพร้าวดูแลรักษาหนัง 5.การใช้เตา คันเบ็ดและราวไทยในการขึงหนัง 6.การประยุกต์เครื่องไถนาเป็นเครื่องฟอกหนัง ครูฉลอง นุ่มเรืองรักษาภูมิปัญญาโบราณของการเหลาอกไก่และขอบขันที่ได้รับมอบจากบรรพบุรุษ และพัฒนาวิธีใหม่จนส่งผลให้โพนมีคุณภาพเสียงดังเป็นลักษณะเฉพาะ