Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์กับกลวิธีสืบค้นบนโปรแกรมค้นหากูเกิล โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 38 คน ด้วยวิธีการศึกษาแบบกึ่งการทดลอง ซึ่งประกอบไปด้วยงานสืบค้น 3 ประเภท การวิเคราะห์ข้อมูลศึกษาตัวแปรอิสระอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประเภทของงานสืบค้น ความคิดเห็นเกี่ยวกับงาน ความสำเร็จในการสืบค้น จำนวนครั้งและระยะเวลาที่ใช้ในการสืบค้น ความเชื่อมั่นในความสามารถทางอินเทอร์เน็ต การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์ และกลวิธีสืบค้น ผลการวิจัย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์สัมพันธ์กับกลวิธีประเมินและกลวิธีสืบค้นตามโครงสร้างของแฟ้มข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ ผู้สืบค้นมีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์ในขั้นปฐมภูมิเมื่อเลือกใช้กลวิธีประเมิน ในขณะที่เมื่อผู้สืบค้นใช้กลวิธีสืบค้นตามโครงสร้างของแฟ้มของมูลมีแนวโน้มที่จะไม่เปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์มากกว่าเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์ สำหรับผลการวิเคราะห์การถดถอยพหุระดับแบบโลจิสติก พบว่า สภาวะอารมณ์มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง เมื่อผู้สืบค้นใช้กลวิธีการประเมิน แต่สภาวะอารมณ์ขั้นปฐมภูมิของผู้เข้าร่วมวิจัยมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อผู้สืบค้น 1) ใช้กลวิธีสืบค้นตามโครงสร้างของแฟ้มข้อมูล 2) ประสบความสำเร็จในการสืบค้น และ 3) พิจารณาว่างานสืบค้นยาก เมื่อพิจารณาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์ในขั้นปฐมภูมิร่วมกับตัวแปรอิสระอื่น ๆ ต่อการเลือกใช้กลวิธีสืบค้น พบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์มีผลต่อการเลือกใช้กลวิธี 3 ประเภทอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ 1) กลวิธีกำหนดลักษณะของผลลัพธ์ 2) กลวิธีเลือกและปรับปรุงคำค้น และ 3) กลวิธีตรวจสอบติดตาม ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย คือ ได้แนวทางในการพัฒนาระบบสืบค้นที่เพิ่มความสามารถในการใช้ได้และความพึงพอใจของผู้ใช้ที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีและผู้ใช้ทั่วไป