Abstract:
การก่ออาชญากรรมเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาสำคัญที่มิได้ส่งผลกระทบเพียงปัจเจกบุคคล (Individual) เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงสังคมส่วนรวมด้วย (Externality) การตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวในมุมมองที่หลากหลายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาการก่ออาชญากรรมเด็กและเยาวชนในมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราอาชญากรรมเด็กและเยาวชนไทยกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน โดยใช้แนวคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อาชญากรรมด้วยแบบจำลองอุปทานของการก่ออาชญากรรม (The Supply of Offenses) ซึ่งได้กำหนดให้ตัวแปรตาม คือ อัตราอาชญากรรมเด็กและเยาวชน และปัจจัยที่กำหนดให้เป็นตัวแปรอิสระ ประกอบด้วย ปัจจัยยับยั้งการก่ออาชญากรรม ได้แก่ โอกาสที่จะถูกจับได้ โอกาสที่จะถูกตัดสินว่ากระทำผิด และโอกาสที่จะถูกลงโทษจากการกระทำความผิด ซึ่งเป็นตัวแปรที่สะท้อนการควบคุมการบังคับใช้กฎหมาย อันเป็นต้นทุนสำคัญของการก่ออาชญากรรม นอกจากนี้ตัวแปรอิสระยังประกอบด้วย ผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) รายได้เฉลี่ยของครัวเรือน อัตราการหย่าร้างต่อการสมรส อัตราการว่างงาน สัดส่วนคนจน ความหนาแน่นของประชากร สัดส่วนประชากรเด็กและเยาวชนเพศชาย จำนวนโรงงานอุตสาหกรรม จำนวนนักท่องเที่ยว โดยทำการศึกษาในระดับจังหวัดซึ่งครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2554 - 2558 โดยการประมาณค่าแบบ Fixed Effects Regression และ Random Effects Regression จากการศึกษา พบว่า มาตรการทางกฎหมายไม่มีส่วนในการช่วยลดอัตราการก่ออาชญากรรมของเด็กและเยาวชนไทย ในขณะเดียวกันปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราการก่ออาชญากรรมเด็กและเยาวชนลดลง คือ การที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดี และความมั่นคงทางด้านรายได้ของครอบครัว โดยการที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีเป็นการเพิ่มต้นทุนในการก่ออาชญากรรมของเด็กและเยาวชน ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราการก่ออาชญากรรมเด็กและเยาวชนไทยเพิ่มขึ้น คือ จำนวนนักท่องเที่ยวและความหนาแน่นของประชากร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะมีการก่ออาชญากรรม