Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์รูปแบบ และการค้นหาแนวคิดของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ เรื่อง “บทอัศจรรย์: นาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยจากแนวคิดในวรรณคดีไทย” ถือเป็นการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่ควบคู่ไปกับการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้แนวคิดหรือทฤษฎีในการสร้างสรรค์งานจากหลากหลายสาขา ได้แก่ คติชนวิทยา วรรณคดีเปรียบเทียบ พฤติกรรมศาสตร์ สัญญะวิทยา ศิลปะหลังยุคนวนิยม ศิลปะลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ ศิลปะลัทธิจุลนิยม เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน นาฏยศิลป์ไทย นาฏยศิลป์ตะวันตก และศิลปกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ และศิลปะแขนงอื่น ๆ ใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์การสังเกตการณ์ การปฏิบัติการภาคสนาม และการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง โดยนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ใช้การตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า และนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า เมื่อพิจารณาประเด็นเรื่องตัณหาหรือกามวิสัยที่ปรากฏในบทอัศจรรย์จากวรรณคดีไทยในปัจจุบัน มักถูกนำไปสร้างสรรค์และออกแบบในลักษณะนาฏยศิลป์แบบราชสำนักหรือนาฏยศิลป์แบบประเพณีนิยม มักไม่นำเสนอลีลาการเคลื่อนไหวที่ตรงไปตรงมาอันเนื่องมาจากจารีตและประเพณีในการแสดง ซึ่งตรงกันข้ามกับบทประพันธ์ในวรรณคดีที่มีฉันทลักษณ์และการสื่อความหมายที่ไพเราะงดงามและสร้างจินตนาการให้ผู้อ่าน การแสดงนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ครั้งนี้จึงพัฒนาและออกแบบองค์ประกอบของการแสดงจำนวน 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) บทการแสดง สร้างจากมุมมองเรื่องกามวิสัยที่ปรากฏในบทอัศจรรย์ จากวรรณคดีไทยเรื่อ งขุนช้างขุนแผน ลิลิตพระลอ และไกรทอง ทั้ง 3 เรื่อง มีบทประพันธ์ว่าด้วยเรื่องบทอัศจรรย์ที่เด่นชัดมากที่สุดในวรรณคดีไทย 2) นักแสดง เป็นการคัดเลือกผู้มีทักษะที่แตกต่างกันมาร่วมแสดงผลงานนาฏยศิลป์คือ ทักษะนาฏยศิลป์ไทย การละคร และการขับร้อง 3) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้การเคลื่อนไหวทางนาฏยศิลป์ที่มาจากการเคลื่อนไหวในกิจวัตรประจำวันเป็นหลักในการออกแบบ การคำนึงถึงการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา มุ่งเน้นอารมณ์และความรู้สึกของการควบคุมการเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบถ 4) อุปกรณ์ประกอบการแสดง เลือกใช้อุปกรณ์การแสดงที่ทำหน้าที่หรือสื่อความหมายในตัวเอง และสื่อความหมายแฝง คือ เสาไม้ แท่นรองไม้ ผ้ามุ้ง ฝาผนังบ้านเรือนไทยจำลอง กระจกส่องทางจราจร โอ่งน้ำ น้ำ ขันน้ำ และคบไฟ 5) เสียงและดนตรีประกอบการแสดง สร้างสรรค์เสียงประกอบด้วยการบรรเลงดนตรีไทยจากวงมโหรีที่ผสมผสานกับเครื่องดนตรีตะวันตก ร่วมกับการขับร้องของนักแสดงด้วยบทขับเสภา และคีตศิลป์ไทย 6) เครื่องแต่งกาย นำเสนอเครื่องแต่งกายแบบร่วมสมัย ภายใต้เครื่องแต่งกายที่สร้างอารมณ์และความรู้สึกในบรรยากาศของวรรณคดีไทย และการก้าวล่วงเข้ามายังยุคสมัยปัจจุบัน การสร้างรูปแบบเครื่องแต่งกายตามสมัยนิยม การใช้สีโทนเย็นที่สร้างความราบรื่นในการมองของนักแสดงและผู้ชม 7) พื้นที่แสดง ปฏิเสธการจัดแสดงนาฏยศิลป์ในโรงละครแบบประเพณีนิยม แต่ใช้สถานที่โล่งแจ้งท่ามกลางผืนหญ้าสีเขียวที่รายล้อมด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ผู้ชมสามารถรับชมการแสดงได้ 2 ด้าน และ 8) การออกแบบแสง มีการเลือกใช้สีของแสงในการสร้างอารมณ์และความรู้สึกตามบทการแสดง ประกอบกับการเลือกใช้แสงจากธรรมชาติในบางช่วงของการแสดง และนอกจากนี้ในด้านแนวคิดของการแสดงนาฏยศิลป์ที่ปรากฏภายหลังจากได้สร้างสรรค์ผลงานแล้วพบว่า มีแนวคิดในนาฏยศิลป์ทั้งสิ้น 9 ประการ ได้แก่ การคำนึงถึงเนื้อหาของวรรณคดีไทย การคำนึงถึงการสื่อสารเรื่องราวไปสู่ผู้ชมที่เป็นคนรุ่นใหม่ การคำนึงถึงตัณหาในบริบทสังคมไทย การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ในผลงานการแสดงนาฏยศิลป์ การคำนึงถึงอุปกรณ์ประกอบการแสดงและสัญลักษณ์ การคำนึงถึงทฤษฎีทางด้านนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และทัศนศิลป์ การคำนึงถึงแนวคิดของนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ การคำนึงถึงการสะท้อนสภาวะของสังคมปัจจุบันในงานนาฏยศิลป์ และการคิดคำนึงถึงเอกลักษณ์ไทย ทั้งหมดนี้ผู้วิจัยได้สร้างสรรค์และออกแบบการแสดงได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ โดยใช้กลยุทธ์สำคัญของรูปแบบการแสดงที่เกิดจากการสร้างสรรค์ผลงานด้วย “เรื่องของการแอบมอง” มาเป็นกลยุทธ์สำคัญของรูปแบบการแสดงในการสร้างสรรค์ผลงาน ผู้วิจัยได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานนาฏยศิลป์ต่อสาธารณชน เปิดรับฟังความคิดเห็นด้วยการใช้แบบสอบถามปลายเปิดและปลายปิดผู้เข้าร่วมชมผลงานทั้งสิ้น 250 คน ได้แก่ นักเรียน ครูอาจารย์ระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา และผู้สนใจทั่วไป และสัดส่วนผู้ชมมากกว่าร้อยละ 50 เป็นผู้มีความรู้ทางด้านนาฏยศิลป์ไทย นาฏยศิลป์ตะวันตก และดุริยางคศิลป์ จากการสำรวจความคิดเห็นพบว่า มุมมองเรื่องการนำแนวคิดจากกามวิสัยที่ปรากฏในบทอัศจรรย์จากวรรณคดีไทยมาสร้างสรรค์เป็นการแสดงนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย เป็นเรื่องที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์ลีลาการเคลื่อนไหวที่ผสมผสานระหว่างนาฏยศิลป์ไทยและนาฏยศิลป์สกุลอื่น ๆ ที่นำเสนอแล้วไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกอนาจารต่อผู้ชม อีกทั้งยังได้แง่มุมในการเรื่องของกรอบวัฒนธรรมไทยและสังคมไทย สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเพศศึกษากับวรรณคดีไทย ซึ่งที่กล่าวมานี้ผู้วิจัยสามารถสรุปได้ว่า การสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยครั้งนี้เป็นแนวทางในการศึกษาและการวิจัยถึงกลวิธีของการแสดงนาฏยศิลป์ในบริบทต่าง ๆ ของสังคมไทยได้ต่อไปในอนาคต