Abstract:
ศึกษาองค์ประกอบป้ายสัญลักษณ์ของ กทม. ศึกษาหาความสัมพันธ์ของป้ายสัญลักษณ์ของ กทม. กับป้ายสัญลักษณ์ของต่างประเทศ ศึกษาหาแนวทางการใช้งานป้ายสัญลักษณ์ กทม. เพื่อให้ใช้งานร่วมกับป้ายอื่นๆ และสภาพแวดล้อมของ กทม. อย่างมีประสิทธิภาพ และศึกษาหามาตรฐานและรูปแบบการออกแบบ เพื่อเป็นคู่มือแนวทางการออกแบบมาตรฐานสำหรับ กทม. จากการรวบรวมข้อมูลป้ายสัญลักษณ์ กทม. ปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการของป้ายสัญลักษณ์ กทม. สมัยแรกๆ คือ 1) การเติบโตของเมืองหลวง 2) ความจำเป็น 3) รูปแบบจากตะวันตก และปัจจัยหลักในปัจจุบันคือต้องการให้มีเอกลักษณ์ ป้ายสัญลักษณ์ กทม. ทั้งหมดมี 5 หมวด 1) บอกทิศทาง 2) บอกกล่าว 3) แบ่งเขต 4) บอกสถานที่โบราณ 5) เตือน ตามการจัดเพื่อการใช้งาน แต่สำหรับการศึกษาวิเคราะห์ ผู้วิจัยได้กำหนดให้เหลือเพียง 4 หมวด เพื่อให้เข้ากับเกณฑ์มาตรฐานของต่างประเทศ ดังนี้ 1) ชี้ทาง 2) แนะนำสถานที่ 3) บอกข่าวสาร 4) เตือน การเลือกตัวอย่าง งานตามการแบ่งทั้ง 4 หมวดดังกล่าว ได้อาศัยคุณประวิทย์ มหาครุฑ ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบของ กทม. เป็นผู้เลือกแบบ เกณฑ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ป้ายสัญลักษณ์ของต่างประเทศ เพื่อนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์ป้ายสัญลักษณ์ของ กทม. ได้แนวทางแก้ไขดังนี้ ป้ายชี้ทางควรเป็นป้ายรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน มีมุมตัดมน ใช้พื้นป้ายสีเข้ม ตัวอักษรและสัญลักษณ์กลับค่า ควรใช้มากที่สุดไม่เกิน 4 ข้อความ ป้ายแนะนำสถานที่ควรเป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน ใช้พื้นป้ายสีเข้ม ตัวอักษรและสัญลักษณ์กลับค่า ควรใช้เพียง 1 ข้อความ ป้ายเตือนควรใช้รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง มุมตัดมน ใช้พื้นป้ายสีเข้ม ตัวอักษรและสัญลักษณ์กลับค่า ควรใช้มากที่สุด 1 ข้อความ และได้นำผลที่ได้ไปออกแบบหนังสือคู่มือ แนวทางการออกแบบป้ายสัญลักษณ์มาตรฐานสำหรับ กทม. โดยประกอบไปด้วย ประวัติพัฒนาการ การวิเคราะห์ และแนวทางการออกแบบ