Abstract:
วิทยานิพนธ์ เรื่อง “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัยจากแนวคิดความหลากหลายทางเพศ” เป็นการบูรณาการความรู้และแนวคิด ความหลากหลายทางเพศ สัญญะวิทยา ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และศิลปกรรมศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน การวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงสร้างสรรค์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์และค้นหาแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์ผลงาน เครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ การสำรวจข้อมูลเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญสื่อสารสนเทศ การสังเกตการณ์ ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย และ เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน โดยนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาวิเคราะห์ ทดลอง สร้างสรรค์ ปรับปรุงแก้ไข จัดแสดงผลงานนิทรรศการ และสรุปผล ตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากแนวคิดความหลากหลายทางเพศ นำเสนอภาพลักษณ์เพศสภาพ เพศวิถี และปรากฏการณ์ทางสังคมที่สัมพันธ์กับความหลากหลายทางเพศ โดยแบ่งตามองค์ทางนาฏยศิลป์ได้ 8 ประการคือ 1) การสร้างบทแสดงขึ้นใหม่จากความหลากหลายทางเพศ 2) การคัดเลือกนักแสดงที่มีความหลากหลายทางเพศและความสามารถทางนาฏยศิลป์ 3) ออกแบบลีลาด้วยรูปแบบนาฏยศิลป์ร่วมสมัยและ แดนซ์ เธียเตอร์ 4) แนวดนตรีมีความหลากหลาย ได้แก่ แทงโก้ ป๊อปแจ๊ส อิเล็กทรอนิกา มาร์ช และคลาสสิค 5) พื้นที่การแสดงปฏิเสธการแสดงในโรงละครตามประเพณี 6) อุปกรณ์ประกอบการแสดงใช้สัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ ธงสีรุ้ง 7) เครื่องแต่งกายใช้การแบ่งแถบสีธงสีรุ้งสะท้อนแนวคิดความหลากหลายทางเพศ 8) การออกแบบแสงใช้แหล่งกำเนิดแสงและสีของแสงที่ช่วยการถ่ายทอดเรื่องราวความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ 6 แนวคิด คือ 1) แนวคิดความหลากหลายทางเพศ 2) แนวคิดการสร้างนาฏยศิลป์ร่วมสมัย 3) แนวคิดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในนาฏยศิลป์ 4) แนวคิดสัญลักษณ์ในการแสดง 5) แนวคิดทฤษฎีทางศิลปกรรมศาสตร์ 6) แนวคิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากการจัดแสดงผลงานการฟังความคิดเห็นและตอบแบบสอบถามสรุปได้ว่ามีผู้เข้าชมที่มีความหลากหลายทางเพศมากกว่า ร้อยละ 95 พึงพอใจกับการแสดง การนำแนวคิดความหลากหลายทางเพศมาสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัยเป็นปรากฏการณ์ที่ท้าทายและสร้างความแปลกใหม่ต่อสังคม ผู้เข้าร่วมชมการแสดงแนะนำให้มีการพัฒนาและเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะมากขึ้น นับได้ว่านาฏยศิลป์เป็นสื่อที่สร้างความรับรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศต่อผู้ชมได้ทุกระดับ และ ผลการวิจัยทั้งหมดที่ได้ค้นพบตรงตามวัตถุประสงค์ที่ผู้วิจัยต้องการทุกประการ