Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ทำการศึกษาการใช้เทคนิค VaR (Value at Risk) ได้แก่ VaRdelta และ Component VaR ในการประมาณมูลค่าเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์และเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างเทคนิค VaR กับค่าเบต้า (Beta) ซึ่งจะทำให้ทราบถึงมูลค่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมและแต่ละตลาดหลักทรัพย์ โดยแสดงถึงส่วนประกอบที่เป็นตัวทำให้เกิดความเสี่ยงหรือการประกันความเสี่ยงในกลุ่มหลักทรัพย์และมูลค่าความเสี่ยงรวมของกลุ่มหลักทรัพย์ อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์โดยอาศัยค่าที่ได้จากเทคนิค VaR กับ ค่าเบต้า เพื่อที่ผู้จัดการกองทุน หรือนักลงทุนจะสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแบ่งวิธีการศึกษาออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นการศึกษาการใช้ VaRdelta และ Component VaR โดยจำลองกลุ่มหลักทรัพย์ซึ่งประกอบด้วยหุ้น 7 กลุ่มอุตสาหกรรมใน 8 ตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาคเอเชีย เพื่อนำมาคำนวณค่า VaR ของแต่ละส่วนประกอบในกลุ่มหลักทรัพย์ (VaRdelta และ Component VaR) และค่า VaR ของกลุ่มหลักทรัพย์ทั้งหมด (portfolio VaR) รวมทั้งค่าความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ และนำผลที่ได้รับมาจัดทำเป็นรายงานสรุป ส่วนที่สองเป็นการเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างเทคนิค VaRdelta กับค่าเบต้าโดยทำการเลือกหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เหมาะสมที่สุดจากผลการศึกษาที่ได้รับในส่วนแรก มาลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ที่จำลองขึ้นหลายขนาด จากนั้นเปรียบเทียบ อัตราผลตอบแทนของกลุ่มหลักทรัพย์กับความผันผวน ของกลุ่มหลักทรัพย์ระหว่าง 2 เทคนิค