Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ประมาณค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้อง กับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกขององค์การ และ ระหว่างพฤติกรรมการเป็นสมาชิกขององค์การ กับผลที่เกิดจากพฤติกรรมการเป็นสมาชิกขององค์การจากงานวิจัยแต่ละเรื่อง 2.เปรียบเทียบค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ที่ได้จากวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 จำแนกตามตัวแปรเกี่ยวกับคุณลักษณะด้านการพิมพ์ ด้านเนื้อหาสาระของการวิจัย ด้านวิธีวิทยาการวิจัย และด้านคุณภาพงานวิจัย 3.ศึกษาอิทธิพลของตัวแปรคุณลักษณะงานวิจัย ทั้ง 4 ด้าน ที่ส่งผลต่อสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของงานวิจัยในประเทศไทย และต่างประเทศ 4.เพื่อตรวจสอบความตรงของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ว่าโมเดลของงานวิจัยตะวันตก มีความสอดคล้องกับโมเดลของงานวิจัยในประเทศไทยหรือไม่ เพียงไร และสรุปข้อค้นพบจากการสังเคราะห์งานวิจัยในแนวคิดของพฤติกรรมการเป็นสมาชิกขององค์การ งานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ในครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงสหสัมพันธ์เป็นงานวิจัยต่างประเทศที่มีการพิมพ์เผยแพร่ในระหว่างปี ค.ศ. 1996-2007 จำนวน 29 เรื่อง ในประเทศไทย ที่มีการพิมพ์เผยแพร่ระหว่างปี พ.ศ. 2539-2550 จำนวน 29 เรื่อง เครื่องมือในการวิจัยคือ แบบบันทึกคุณลักษณะงานวิจัย และแบบประเมินคุณภาพงานวิจัย ข้อมูลที่ใช้ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์และตัวแปรคุณลักษณะงานวิจัยการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติบรรยาย และการสังเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ตามหลักการวิเคราะห์อภิมาน
ผลการสังเคราะห์งานวิจัยพบว่า 1. ค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์งานวิจัยต่างประเทศ จำนวน 166 ค่า มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.22 งานวิจัยในประเทศไทย จำนวน 152 ค่า มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.39 2.ตัวแปรคุณลักษณะงานวิจัย ที่มีอิทธิพล อย่างมีนัยสำคัญต่อค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ในงานวิจัยต่างประเทศ ได้แก่ จำนวนหน้าทั้งหมด จำนวนตัวแปรตาม จำนวนเครื่องมือ และคุณภาพงานวิจัย งานวิจัยในประเทศไทย ได้แก่ ตัวแปรจำนวนตัวแปรตาม 3.ผลการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างงานวิจัยต่างประเทศ และงานวิจัยในประเทศไทยพบว่า งานวิจัยทั้ง 2 ประเภท ศึกษาสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัวเป็นชุดตัวแปรทั้งสิ้น 42 ชุดโดยศึกษาชุดตัวแปรที่เหมือนกัน จำนวน 19 ชุด ซึ่งงานวิจัยในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ในงานวิจัยต่างประเทศทุกชุด เมื่อทดสอบความแตกต่างด้วย Z-test พบว่า ค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 4. ผลการตรวจสอบโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ ของพฤติกรรมการเป็นสมาชิกขององค์การ พบว่าโมเดลมีความตรงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการวิเคราะห์กลุ่มพหุ แสดงว่าโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุทั้งสองไม่แปรเปลี่ยนระหว่างกลุ่มงานวิจัยไทย และงานวิจัยต่างประเทศ