Abstract:
พัชนี ตั้งยืนยง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมจีนเรื่อง “ตำราพิชัยสงครามซุนวู孫子兵法” กับฉบับแปลไทยสามสำนวน การศึกษาเปรียบเทียบนี้แบ่งเป็นสองประเด็นคือ ประเด็นแรก เป็นการเปรียบเทียบสำนวนแปลที่เหมือนและต่างของฉบับแปลไทยทั้งสามฉบับกับต้นฉบับภาษาจีน และประเด็นที่สองเป็นการเปรียบเทียบสำนวนแปลที่เหมือนและต่างของฉบับแปลไทยทั้งสาม การศึกษาเปรียบเทียบทั้งสองประเด็นนี้จะศึกษารูปแบบการใช้คำและสำนวนภาษาว่ามีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร รวมทั้งวิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยความต่างนั้นโดยกำหนดขอบเขตการศึกษาเปรียบเทียบระดับคำและสำนวนภาษาในเนื้อหาทั้ง 13 บรรพ ผลการวิจัยพบว่า ฉบับแปลภาษาไทยทั้งสามมีทั้งส่วนที่แปลตรงและต่างกับต้นฉบับภาษาจีน ซึ่งเกิดจากสาเหตุ 3 ประการคือ 1) การถ่ายทอดความหมายของทั้งสามสำนวนเป็นการแปลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน 2) กลวิธีที่ผู้แปลใช้ในการแปลมี 4 ลักษณะ ได้แก่ การแปลโดยนำภาษาไทยมาเทียบเคียง สำนวนที่แปลแบบขยายความ การแปลแบบตรงตัว การแปลแบบใช้โวหารภาพพจน์เทียบเคียง 3) ปัจจัยทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อการถ่ายทอดตัวบท อันเนื่องจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรมบางอย่างที่ไม่อาจเทียบกันระหว่างต้นฉบับกับงานแปล ซึ่งปรากฏในตัวบทด้วยกัน 8 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับสถานที่ ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับเวลา ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับกฎของธรรมชาติ ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีความเชื่อ ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับมาตราวัด ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับหลักคุณธรรม และปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับอุปมาอุปไมย สาเหตุทั้ง 3 ประการดังกล่าวส่งผลให้ผู้แปลทั้งสามมีการแปลที่หลากหลายแนวทางเพื่อถ่ายทอดเนื้อความจากต้นฉบับมาสู่บทแปล และทำให้ผลตอบสนองของผู้รับสารฉบับแปลทั้งสามมีความเหมือนและความต่าง