Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เพื่อประมาณค่าพารามิเตอร์ทางพันธุกรรม และประเมินค่าการผสมพันธุ์สำหรับลักษณะปริมาณน้ำนมในวันทดสอบ และลักษณะปริมาณน้ำนมที่ 305 วัน พร้อมทั้งเปรียบเทียบผลที่ได้จากการวิเคราะห์ทั้งสองลักษณะโดยใช้แฟ้มข้อมูลที่ประกอบด้วยแม่โคนมที่ให้น้ำนมสมบูรณ์ในระยะการให้นมครั้งแรก อย่างน้อย 150 วัน จำนวน 645 ตัว การประมาณค่าองค์ประกอบความแปรปรวน (ความแปรปรวนทางพันธุกรรม ความแปรปรวนของสภาพแวดล้อมถาวร และความแปรปรวนของความคลาดเคลื่อน) สำหรับปริมาณน้ำนมในระยะการให้นมที่ 305 วันใช้โมเดลบันทึกผลิตน้ำนมในระยะการให้นมที่ 305 วัน (305-day lactation model, 305DLM) และปริมาณน้ำนมในวันทดสอบใช้โมเดลบันทึกผลผลิตน้ำนมในวันทดสอบ (test day model, TDM) ด้วยวิธี Restricted maximum likelihood (REMl) ผลการศึกษาพบว่าองค์ประกอบความแปรปรวนของความคลาดเคลื่อนจากการจำแนกกลุ่มที่มีการจัดการและสภาพแวดล้อมเดียวกันด้วย ฝูง-วันทดสอบ มีค่าต่ำกว่าการจำแนกด้วย ฝูง-ปี-ฤดูกาลตลอด 15.64 เปอร์เซ็นต์ ค่าอัตราพันธุกรรมของปริมาณน้ำนมในวันทดสอบมีค่าต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับปริมาณน้ำนมในระยะการให้นมที่ 305 วัน ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างปริมาณน้ำนมในวันทดสอบกับปริมาณน้ำนมในระยะการให้นมที่ 305 วันมีค่าสูงกว่า 0.76 การหาความสัมพันธ์ระหว่างค่าการผสมพันธุ์จาก TDM กับ 305DLM ด้วย Pearson correlation และ Spearman rank correlation ได้ค่าสูงกว่า 0.87 ทั้งข้อมูลทั้งหมดและข้อมูลบางส่วน แสดงให้เห็นว่าค่าการผสมพันธุ์สำหรับปริมาณน้ำนมในวันทดสอบมีความสัมพันธ์อย่างสูงกับปริมาณน้ำนมในระยะการให้นมที่ 305 วัน ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าปริมาณน้ำนมในวันทดสอบสามารถใช้แทนปริมาณน้ำนมในระยะการให้นมที่ 305 วันสำหรับประเมินค่าทางพันธุกรรมของโคนมได้โดยใช้ TDM ที่เหมาะสม