Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูปให้รัฐสภาไทยสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลพลเรือนในการควบคุมทหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร โดยไทยได้ปฏิรูปกองทัพแบบตะวันตกพร้อมกับการสร้างรัฐสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นองค์อธิปัตย์ที่ใช้อำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 รัฐสภาจึงเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจอธิปไตยในการตรวจสอบถ่วงดุลโดยเฉพาะกิจการทหารเพื่อให้เป็นเครื่องมือของรัฐได้อย่างเหมาะสม การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพโดยการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก รายงานการประชุมรัฐสภา เอกสารที่เกี่ยวข้อง และการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม จากการศึกษาบทบาทรัฐสภาต่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ 5 ด้าน ได้แก่ การจัดสรรงบประมาณทหาร การแต่งตั้งโยกย้ายทหาร การจัดหายุทโธปกรณ์ การใช้กำลังทหาร และโครงสร้างการจัดกองทัพ ผลการวิจัยสรุปว่าการที่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งหลังปี พ.ศ.2531 เริ่มใช้อำนาจฝ่ายบริหารเข้ามาควบคุมกองทัพเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่รัฐสภายังมีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ ปัญหาการตรวจสอบถ่วงดุลในรัฐสภา การขาดความรู้ด้านกิจการทหารของพลเรือนไทยรวมถึงสมาชิกรัฐสภา การขาดผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการทหารและอัตรากำลังบุคลากรในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร การขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อกิจการทหาร ส่งผลทำให้รัฐบาลพลเรือนใช้อำนาจบริหารต่อทหารในลักษณะที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพลเรือนและทหารตามมาเป็นระยะและในบางครั้งได้ขยายตัวเป็นสาเหตุหนึ่งของการรัฐประหารในอดีตที่ผ่านมา การวิจัยนี้จึงเสนอให้มีการปฏิรูปแก้ไขข้อจำกัดของรัฐสภาดังกล่าวให้มีความเป็นสถาบันทางการเมืองที่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลและเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน เพื่อช่วยลดความขัดแย้งและสร้างความเป็นมืออาชีพให้เกิดขึ้นทั้งฝ่ายรัฐบาลพลเรือนและทหารควบคู่ไปพร้อมกัน