Abstract:
โครงการวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบในการวัดผลการดำเนินงานของธุรกิจลีสซิ่งในประเทศไทย” มุ่งเน้นทำการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการรับรู้ทางบัญชีของธุรกิจลีสซิ่งที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการเช่าซื้อรถยนต์ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2545 ถึง 2547 โดยทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับมาตรฐานการบัญชีของสหรัฐอเมริกาฉบับที่ 13 (Statements of Financial Accounting Standard [SFAS] No. 13) มาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 17 (International Accounting Standards [IAS] No. 17) และมาตรฐานการบัญชีไทยฉบับที่ 29 (Thai Accounting Standard [TAS] No. 29) “การบัญชีสำหรับสัญญาเช่าระยะยาว” ผลวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจลีสซิ่งในประเทศไทยเกือบทั้งหมดมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการบัญชีทั้ง 3 โดยที่ธุรกิจลีสซิ่งของประเทศไทยมีรูปแบบทางกฎหมายที่มีทั้งสัญญาเช่าซื้อ และสัญญาเช่าระยะยาว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของไทย และมีพัฒนาการมาจากกฎหมายสัญญาของไทย ทั้งนี้ IAS No. 17 และ SFAS No. 13 ไม่ได้กำหนดมาตรฐานการบัญชีเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ในขณะที่ TAS No. 29 ก็ถูกจัดทำขึ้นตาม IAS No. 17 จึงทำให้มาตรฐานการบัญชีไทยไม่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อความเหมาะสมกับแนวปฏิบัติทางธุรกิจลีสซิ่งในประเทศไทย