Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูล หมายเลขโคนม ลำดับการให้นม อายุเมื่อคลอดลูก เดือนและปีที่แม่โคคลอดลูก จำนวนวันให้นม ปริมาณน้ำนมรวมตลอดลำดับการให้นม และปริมาณน้ำนมราย 10 วัน จำนวน 12,530 ระเบียน จากฟาร์มโคนมขนาดใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทย ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณน้ำนมได้แก่ระดับเลือดโคโฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน ลำดับการให้นม เดือนปีที่แม่โคคลอดลูก (p<0.01) โดยมีอายุและจำนวนวันให้นมเป็นความแปรปรวนร่วม การศึกษาค่าปรับปริมาณน้ำนมได้แบ่งกลุ่มข้อมูลตามระดับเลือดของโคนมโฮลสไตน์ฟรีเชี่ยนและลำดับการให้นม เป็น 100 87.5 75 และ 50 เปอร์เซ็นต์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน และ ลำดับการให้นมที่ 1 2 และตั้งแต่ 3 ขึ้นไป โดยวิธีที่ 1 เป็นวิธีแบบตัวคูณซึ่งแบ่งช่วงของวันให้นมเป็น 15 ช่วง (M15STAGE) วิธีที่ 2 เป็นวิธีแบบตัวคูณซึ่งแบ่งวันให้นมเป็น 30 ช่วง (M30STAGE) และวิธีที่ 3 ใช้สมการถดถอยเชิงเส้นตรงอย่างง่าย โดยปรับจำนวนวันให้นมให้เป็นมาตรฐานที่ 300 วันจากการทดสอบความสอดคล้องของค่าปรับปริมาณน้ำนมกับปริมาณน้ำนมจริงพบว่าการใช้สมการถดถอยเชิงเส้นตรงมีประสิทธิภาพสูงสุดคือมีค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าเฉลี่ยสัมบูรณ์ของผลต่างระหว่างปริมาณน้ำนมที่ปรับได้ กับปริมาณน้ำนมจริงที่ 300 วัน ต่ำกว่า M15STAGE และ M30STAGE อย่างไรก็ตามค่าปัจจัยปรับที่ศึกษาได้ไม่สามารถเปรียบเทียบกับค่าปรับที่ใช้กันโดยทั่วไปในประเทศไทย (MGENERAL) ได้ เนื่องจากมีจำนวนวันให้นมมาตรฐานต่างกันโดยปริมาณน้ำนมที่ได้จาก MGENERAL มีแนวโน้มต่ำกว่าปริมาณน้ำนมจริงที่ 300 วันของข้อมูลปัจจุบันที่ใช้ศึกษายกเว้นที่ระดับเลือด 50 เปอร์เซ็นต์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน และจากค่าเฉลี่ยลีสท์สแควร์ของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลต่างระหว่างปริมาณน้ำนมปรับกับปริมาณน้ำนมจริง ของแต่ละวิธีตั้งแต่วันให้นมที่ 210 ขึ้นไป พบว่าการใช้สมการถดถอยมีค่าเฉลี่ยลีสท์สแควร์ต่ำที่สุด ในทุกระดับเลือด ข้อเสนอจากการศึกษาครั้งนี้คือค่าปริมาณน้ำนมมีวิธีคำนวณหลากหลายวิธี การเลือกใช้วิธีใดควรคำนึงถึงธรรมชาติของข้อมูลเพื่อจะได้ค่าปรับที่มีความเหมาะสมกับประชากร