Abstract:
ความชรา ได้กลายเป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งก่อให้เกิดความผิดปกติและโรคที่เกี่ยวข้องกับความชรามากมาย กระบวนการเกิดทั้งหมดเกิดได้ในอวัยวะทั่วไป รวมทั้งภายในสมองโดยเฉพาะสมองส่วนไฮโปทาลามัส จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ากระบวนการเกิดความชรามีความสัมพันธ์กับกลไลการอักเสบผ่านการทำงานของ NF-κB และการทำงานของฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง ฮอร์โมน ในการศึกษานี้ผู้วิจัยเลือกสมุนไพรไทย 3 ชนิดได้แก่ ไพล รางจืดและว่านมหากาฬ เพื่อศึกษาผลของสมุนไพรต่อการป้องกันและการรักษาผ่านกลไกต้านการอักเสบของ NF-κB และการเพิ่มระดับการหลั่งของโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง ฮอร์โมน ในเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยง GT1-7 ซึ่งเป็นเซลล์ประสาทจากไฮโปทาลามัส โดยความเข้มข้นของสารสกัดหยาบของสมุนไพร เลือกมาจากการวัดอัตราการรอดชีวิตของเซลล์ จากนั้นจึงนำมาศึกษาฤทธิ์การต้านการอักเสบผ่านการแสดงออกระดับยีนของ NF-κB และยีนเป้าหมายของ NF-κB ด้วยวิธี real-time PCR และศึกษากลไกต้านการอักเสบผ่านการเคลื่อนที่เข้าสู่นิวเคลียสของ RelA (p65) ด้วยวิธี western blot อีกทั้งวัดผลการหลั่งของ โกนาโดโทรปิน รีลิสซิง ฮอร์โมนด้วยเทคนิค ELISA จากการศึกษาพบว่าสารสกัดหยาบจากเหง้าไพลด้วยเฮกเซนและเอทานอล ที่ความเข้มข้น 12.5, 25 μg/mL ตามลำดับ สารสกัดหยาบจากใบรางจืดด้วยเอทานอลและสารสกัดหยาบจากใบว่านมหากาฬด้วยเมทานอล ที่ความเข้มข้น 50 μg/mL ตามลำดับ สามารถลดการแสดงออกของยีน NF-κB1, NF-κB2, RelA(p65), RelB, IκB-α, IKK-β, TNF-α, IL-1β, IL-6 และเพิ่มการแสดงออกของยีน SIRT1 ได้ อีกทั้งยังลดการเคลื่อนที่เข้าสู่นิวเคลียสของ p65 ในเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยง GT1-7 ที่ถูกกระตุ้นด้วย TNF-α นอกจากนี้ผลจากสารสกัดหยาบจากสมุนไพรยังสามารถเพิ่มการหลั่งของ โกนาโดโทรปิน รีลิสซิง ฮอร์โมน ได้อีกด้วย จากผลการศึกษาทั้งหมดนี้บ่งชี้ได้ว่า กระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นจากการเหนี่ยวนำด้วย TNF-α ทำงานผ่านกลไกการทำงานของ NF-κB เเละอาจมีความเกี่ยวข้องกับการหลั่งที่ลดน้อยลงของ โกนาโดโทรปิน รีลิสซิง ฮอร์โมน และสารสกัดหยาบจากไพล รางจืดและว่านมหากาฬ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบผ่าน NF-κB และส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณการหลั่งของ โกนาโดโทรปิน รีลิสซิง ฮอร์โมนได้ ซึ่งน่าจะนำสมุนไพรไทยทั้ง 3 ชนิดนี้มาศึกษาต่อยอดและพัฒนาเพื่อเป็นยาที่ใช้ในการรักษาและป้องกันความผิดปกติของความชราและโรคที่เกี่ยวข้องกับความชรา อันเนื่องมาจากกระบวนการอักเสบ