Abstract:
ประเทศไทยมีการบริโภคและเพาะเห็ดเป็นจำนวนมาก ผู้วิจัยสนใจศึกษาเห็ดรับประทานได้ที่เป็นที่นิยม 3 ชนิด ได้แก่ เห็ดหูหนู (AA) เห็ดเป๋าฮื้อ (PA) และเห็ดนางฟ้าภูฐาน (PS) โดยนำส่วนดอกเห็ดมาสกัดด้วยเอทานอลโดย soxhlet extraction หรือน้ำที่อุณหภูมิ 4, 22, 50 และ 100 องศาเซลเซียสด้วย maceration technique ทำการตรวจวัดปริมาณฟีนอลและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี Folin-Ciocalteau's method และ Trolox equivalent antioxidant capacity (TEAC) assay พบว่าสารสกัดเอทานอลและน้ำจากเห็ดทั้ง 3 ชนิดมีสารฟีนอลและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกัน และทำการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของสารสกัดเห็ดด้วยเทคนิค UPLC-HRMS ซึ่งไม่เคยมีการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบในเห็ดด้วยวิธีนี้มาก่อน และพบว่าสารสกัดเอทานอล AA, PS และ PA ยับยั้งการเจริญของ U937 ได้ดี (IC50 0.28±0.04, 0.45±0.01 และ 0.49±0.001 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) เมื่อทดสอบด้วย MTS/MTT โดย AA ที่ 0.5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตรเป็นพิษต่อเซลล์คิดเป็น 50% เมื่อตรวจวัดด้วย LDH assay ผู้วิจัยคาดว่ากรดกลูตามิคซึ่งพบเฉพาะใน AA และเป็นกรดอะมิโนที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งน่าจะเป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญใน AA ที่ยับยั้งการเจริญของ U937 จากงานวิจัยนี้พบว่าสารสกัดเห็ดหูหนู AA50 มีฟีนอลสูงสุดและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีที่สุดเมื่อเทียบกับสารสกัดอื่น และ AA22, AA50 และ AA4 ยับยั้งการเจริญของ U937 ได้ดีกว่า AA100 (IC50 0.04±0.02 0.06±0.01 0.07±0.01 และ 1.56±0.19 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) โดย AA4, AA22 และ AA50 เป็นพิษต่อเซลล์ในขณะที่ AA100 ยับยั้งการเจริญของเซลล์ U937 ได้น้อยและไม่เป็นพิษต่อเซลล์แม้ทดสอบที่ความเข้มข้นสูง ทั้งนี้ตรวจพบกรดกลูตามิคได้ในทุกสารสกัดเห็ดหูหนูแต่ไม่ได้ทำการตรวจวัดปริมาณซึ่งอาจมีแตกต่างกันในแต่ละสารสกัด อีกทั้งการสกัดด้วยอุณหภูมิสูงอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของ AA100 ได้ ส่วนสารสกัดด้วยน้ำของเห็ดเป๋าฮื้อมีฟีนอลแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ แต่ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระไม่แปรผันตามปริมาณฟีนอล พบว่า PA50, PA22 และ PA4 ยับยั้งการเจริญของ U937 ได้ (IC50 0.65±0.32, 1.24±0.41 และ 1.89±0.06 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) ในขณะที่ PA100 ไม่ยับยั้งการเจริญของ U937 จากการวิเคราะห์องค์ประกอบด้วย UPLC-HRMS พบกรดกลูตามิคใน PA4, PA22 และ PA50 ส่วน PA100 ที่ไม่ยับยั้งการเจริญของเซลล์ U937 นั้น ไม่พบว่ามีกรดกลูตามิค อุณหภูมิที่ใช้ในการสกัดเห็ดเป๋าฮื้ออาจมีผลต่อการออกฤทธิ์ของสารสำคัญที่พบใน PA100 ทำให้ไม่ยับยั้งการเจริญของเซลล์ เช่นเดียวกันกับสารสกัดเห็ดนางฟ้าภูฐานที่สกัดด้วยน้ำก็ไม่สามารถยับยั้งการเจริญของ U937 หากแต่กระตุ้นการเจริญของเซลล์ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสารสกัดเห็ดนางฟ้าภูฐาน PS100 และ PS50 มีปริมาณฟีนอลใกล้เคียงกันและมีปริมาณฟีนอลสูงที่สุดเมื่อเทียบกับ PS4 และ PS22 จากผลการศึกษาพบว่า PS50 มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด โดยมีค่าสูงเป็น 3 เท่าของ PS100 ชี้ให้เห็นว่าปริมาณฟีนอลใน PS ไม่มีความสัมพันธ์กับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทั้งนี้จากผลการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค UPLC-HRMS พบว่าใน PS50 ประกอบด้วยสาร 43 ชนิด ที่ไม่สามารถระบุชื่อ อาจเป็นไปได้ว่าฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของ PS50 ที่สูงกว่า PS100 อาจเป็นผลเนื่องมาจากสารต่างๆ เหล่านี้ ผู้วิจัยพบว่า PS22, PS50, PS100 และ PA100 เหนี่ยวนำให้ U937 เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเมื่อศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ จากการตรวจวัดด้วย sandwich ELISA พบว่าสารสกัดเห็ดนางฟ้าภูฐานทั้ง 3 ชนิดไม่กระตุ้นการหลั่ง TNF-alpha ของ U937 แต่เมื่อนำสารสกัดเห็ดมาทดสอบร่วมกับ PMA กลับพบว่ามีการทำงานเสริมฤทธิ์กันส่งผลให้เซลล์หลั่ง TNF-alpha เพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับการกระตุ้นด้วย PMA เพียงอย่างเดียว การศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสารในระดับโมเลกุลจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจ และสามารถนำเห็ดทั้งสามชนิดไปพัฒนาและประยุกต์เพื่อการใช้งาน อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในเชิงสุขภาพต่อไปได้